มนุษย์ทุกคนมีฝัน แต่บางคนไม่กล้าคว้าโอกาสที่เข้ามา และปล่อยหลุดมือไปด้วยหลายเหตุผลอาจเพราะความไม่พร้อม ความกล้าที่จะตัดใจเพื่อเสี่ยงกับอนาคตที่ไม่แน่นอน สิ่งนั้นจึงเป็นแค่ความฝันต่อไป

แต่ Cyberclasher หรือ แบงค์ – กิติภัทร กาญจนาพิพัชร์ นักพากย์ชื่อดังแห่งวงการอีสปอร์ตไทย คือคนที่พร้อมจะรับทุกความเสี่ยงเพื่อได้ทำตามฝันของตัวเอง แม้จะไม่รู้อนาคตข้างหน้า แต่ก็พร้อมสู้ทุกอุปสรรคจนกลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้พากย์ศึก Dota 2 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง The International 2017(TI 7)

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้เขาเคยประสบช่วงเวลายากลำบากจากกระแสด้านลบจนแทบหมดไฟในการทำสิ่งที่รัก แต่เขาปลุกตัวเองจากความผิดหวัง เริ่มนับหนึ่งใหม่จนทำให้ชื่อของ Cyberclasher ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง และนี่คือเรื่องราวทุกช่วงชีวิตของชายผู้บรรลุจิตวิญญาณแห่งหมอลำซิ่ง

Cyberclasher

หนุ่มอุบลฯ

จุดเริ่มต้นทุกอย่างเกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี กับเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตเหมือนเด็กที่ชอบเล่นเกมทั่วไป ในยุคอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เฟื่องฟู เกือบทุกวันเขาคลุกคลีอยู่กับการเล่นเกม จนจับพลัดจับพลูสร้างเงินที่เกี่ยวกับเกมได้เป็นครั้งแรก

“ผมเล่นเกมมาตลอดตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นมัธยมถือว่าเป็นคนติดเกมคนหนึ่ง” แบงค์ เล่าย้อนความหลังในอดีต

“เราไม่รู้หรอกว่า ทุกวันนี้มันจะมีอาชีพนักพากย์ นักกีฬาอีสปอร์ต ขอแค่ทำงานที่เกี่ยวกับเกมเท่านั้นก็พอแล้ว แต่ก่อนเราเล่นในร้านอินเตอร์เน็ตสนุกกว่าที่บ้านเยอะ เพราะที่บ้านอินเตอร์เน็ตไม่ดี ผมเล่นไปเรื่อยๆเริ่มรู้สึกว่าเงินที่จ่ายออกไปไม่คุ้มค่า เราต้องหางานทำด้วยเพื่อที่จะอยู่กับการเล่นเกมให้ได้”

กว่าจะเป็น Cyberclasher

เดิมชื่อของเขาไม่ใช่ Cyberclasher แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตั้งแต่ยุคที่เล่นเกมในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยมา

“แต่ก่อนมีหลายชื่อครับ แน่นอนว่าเคยผ่าน คำว่า Bank2000 BankLnwza มาหมด ตอนแรก เล่นเกม CS 1.6 ที่ร้าน Sonic เลยนัดกับเพื่อนตั้งชื่อว่า XSoinic_Bank_2000 แน่นอนว่าสมัยนั้นมันเท่ 555 ต่อมาใช้ชื่อว่า A-W-A-T-A-N เคยเกือบโดน รุ่นพี่เทคนิค ต่อย เพราะตอนนั้น ยิง CS ในร้านนี่ละ ละไปจี้เค้าบ่อยเลย ทำให้ เค้าเดินตามหาในร้าน ปรากฎว่า มีอยู่สองคน ที่ใช้ชื่อนี้ และเขียนคล้ายๆ กันโดยบังเอิญ เราเลยตัดสินใจว่าไม่ใช้ชื่อนี้อีกต่อไป”

ช่วงหนึ่งวง Clash กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะวงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นที่ทั้งเพลงเพราะ และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่ง แบงค์ เป็นหนึ่งในสาวก Clash และมีอิทธิพลถึงขั้นหยิบมาตั้งเป็นชื่อของตนเองในวงการเกม

“พอผ่านช่วงต่อมาเราก็ย้ายร้านอินเตอร์เน็ตเล่นอีกครั้ง ซึ่งยุคนั้น วง Clash กำลังดัง และ ผมชอบคำว่า Clash ดูสั้นๆ แต่เท่ดี แต่อย่าลืมนะว่า คนใช้ชื่อนี้โคตรเยอะมากๆ มากที่สุด เป็นชื่อโคตรโหลที่ถูกตั้งในเกม เหมือน Potato, Silly Fools, Bigass เยอะไปหมด”

“ผมเลย Edit ชื่อตัวเองเพิ่มด้วยการใส่ ER ลงไปท้ายคำ จนได้ชื่อว่า Clashel2 ในที่สุด ต่อมาตอนนั้นเล่น ย้ายร้านเล่น (อีกแล้ว) ชื่อร้าน internet ชื่อว่า Cyberzone ตอนนั้น กับ แก็งค์เพื่อน จะตั้งชื่อว่า CyberBank, CyberGR (ไซเบอร์กล้วย), CyberNid (ชื่อเล่นนิด)”

“สำหรับเราเห็นว่ามันไม่เข้ากันเท่าไหร่เลยกลับมาใช้ชื่อ Cyber + Clasher รวมกันเป็น Cyberclasher ในที่สุด แต่ก่อนเขียนยากกว่านี้ด้วยนะ Cyl3el2clashel2 ด้วย ใครจะเขียนตามละ สมัยนี้แน่นอนเรารู้สึกว่าชื่อนี้ เข้ากันดี เพราะด้วย เท่ด้วย เราเลยใช้มายาวๆ ตลอด”

Cyberclasher

ช่วงเรียนปวส. ชีวิตหนึ่งวันหนึ่งของ แบงค์ ต้องเข้าเรียนตอนเช้าถึง 6 โมงเย็น จากนั้นตอนค่ำต้องไปเฝ้าร้านเกมจนเกือบเช้าของอีกวัน ทำให้วันถัดไปเขาแอบงีบหลับในเวลาเรียนด้วยความเหนื่อยล้า

“ช่วงอายุ 15-16 ปี ผมไม่ได้ขอเงินพ่อแม่แล้ว ผมเริ่มหางานทำเพื่อเล่นเกมไปด้วยเลี้ยงตัวเองไปด้วยได้ก็เป็นงานเฝ้าร้านเกมรายวัน มันเป็นสิ่งที่เราชอบในตอนนั้น พ่อแม่ไม่ได้เห็นด้วยหรอก เฝ้าร้านเกมเงินไม่ได้เยอะพออยู่เดือนชนเดือน มีเงินเก็บบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเก็บถึงกับเลี้ยงครอบครัว จ่ายช่วยพ่อแม่ อะไรขนาดนั้น อยู่ไปแบบพอเลี้ยงตัวเองคนเดียวมากกว่า”

ด้วยภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบ งานเฝ้าร้านเกมไม่เพียงพอที่จะซัพพอร์ตเขา และครอบครัว เขายังหวังสร้างอาชีพทำเงินจากเกม เพราะนี่คือสิ่งที่รัก จนวันหนึ่งโอกาสแรกถูกหยิบยื่นเข้ามา เมื่อรุ่นพี่ที่รู้จักชักชวนไปทำงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำเกม Dota แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

“ตอนนั้นผมเรียนใกล้จะจบพอดีก็มีพี่ที่ทำงานในบริษัทเกมเกี่ยวกับ Dota คือ พี่โดม(พิพัฒน์ รุ่งเรือง)ที่ทำ Thai Cybergame เขาชวนไปทำงานกับเขาที่กรุงเทพ ผมนั่งคิดอยู่ว่า เราต้องเรียนให้จบก่อนหรือเปล่า เพราะบริษัทในกทม. บางที่ต้องมีวุฒิขั้นต่ำเพื่อตามฐานเงินเดือน”

“ผมคิดอยู่เดือนหนึ่งก็มองว่า อายุตัวเองเลยขอบเขตที่จะต้องเรียนจบปริญญาตรี ตอนนั้นผมอายุประมาณ 23-24 ปี สุดท้ายก็คิดว่า ออกมาทำงานก่อนดีกว่าเดี๋ยวค่อยเรียนไปทำงานไปแล้วกัน”

เมื่อตัดสินใจเรียบร้อย เขาเก็บกระเป๋าลาครอบครัวมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงทันที ณ เวลานั้นเขาคือเด็กหนุ่มไฟแรงที่ตื่นเต้นกับการได้ทำสิ่งที่รักเป็นงานที่สร้างอาชีพได้ ยิ่งกว่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้จับงานพากย์ครั้งแรกในชีวิต

นักพากย์ยุคบุกเบิก

“ผมทำงานอยู่บริษัท Asia soft เกี่ยวกับแผนกการจัดแข่งขันเกม” แบงค์ กล่าวต่อ “ผมอยากเพิ่มความสามารถเพื่อพัฒนาองค์กร ก็คิดว่าในเมื่ออยากพากย์เกมอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองจัดแข่งซะเลย ผมก็นำโปรเจคไปเสนอที่ทำงาน ซึ่งเขาก็โอเคส่งคอมพิวเตอร์มาให้เซ็ตหนึ่ง”

“ผมทำตั้งแต่ Warcraft III และ Dota 1 ทำมาเรื่อยๆมีดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็มีคอมเมนต์หลายอย่างในอาชีพนี้ แต่มันท้าทายสำหรับผม เราก็เก็บมาพัฒนาไปเรื่อย ในบริษัทจะให้พากย์เกมอะไรหรือเกมที่ต้องการโปรโมทที่มีพากย์ก็สามารถเอาเราเข้าไปทำตรงนั้นได้”

ด้วยความชื่นชอบพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทำให้เขาไม่เคยหยุดนิ่ง แบงค์ ได้รับหน้าที่ดูแลการแข่งขัน Dota 1 พร้อมๆกับบทบาทนักพากย์ที่ได้ฝึกสกิลใหม่ไปในตัว กระทั่งวันหนึ่งเขาก้าวสู่นักพากย์เต็มตัวในนาม Cyberclasher ซึ่งครั้งนี้เขาไม่ได้นั่งรอโอกาส แต่เดินเข้าไปหาโอกาสนั้นด้วยตัวเอง

“ผมได้เห็นนักพากย์รุ่นพี่อย่าง SunWatlz(ดลภพ เทียนดำ) ที่เขาพยายามทำตรงนี้อยู่ ผมก็ได้ดูได้ถามจนเห็นว่า ตรงนี้มันก็ดีนะเลยเอาไปเสนอที่บริษัทแล้วก็ได้หน้าที่การงาน(นักพากย์เกม)ตรงนี้มา”

อย่างไรก็ตาม ยุคแรกเริ่มในวันที่วงการอีสปอร์ตเมืองไทยยังไม่เติบโต นักพากย์จึงยังไม่สามารถเป็นอาชีพมั่นคงได้ ส่งผลให้ แบงค์ จับงานพากย์เป็นงานรองเท่านั้น ส่วนหน้าที่หลักคือการดูแลทัวร์นาเมนต์ Dota ต่อไป 

“สำหรับนักพากย์ ถ้ายุคนั้นไม่ได้ทำงานในบริษัทเกมก็แทบจะหากินไม่ได้ มันแค่เป็นส่วนเสริมของอาชีพเท่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้โปรโมทเกมในบริษัทมากกว่า อย่าง Garena เขาโปรโมท HoN หรือ RoV ก็จะมีนักพากย์เฉพาะของเขา ซึ่งของผมจะเป็น Dota 1 ส่วน Dota 2 ไม่ได้พากย์เพราะบริษัทไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ แต่ก็ทำเกมอื่นๆในเครือบริษัทมาเรื่อย”

“ผมเป็นคนชอบอ่านคอมเมนต์ตลอด มีบางคอมเมนต์บอกพากย์น่าเบื่อเสียงยืด ผมก็คิดได้อย่างหนึ่งถ้าเราเริ่มจากตัวตนว่า เราเป็นอย่างไรก็เก็บสไตล์นั้นแล้วทำให้มันเก่งที่สุดจากนั้นค่อยเสริมสิ่งอื่นๆนิดหน่อย ผมเป็นสไตล์พากย์  play by play ถ้าเป็นฟุตบอลก็ประมาณ นายเอส่งไปให้นายบี นายเอเตะย้อนหลัง แต่เราไม่ได้พูดว่า นายเอวิ่งพลาดนาทีเท่าไหร่ จ่ายพลาดเพราะอะไร เราจะไม่พูด เพราะรู้สึกว่า การพากย์แบบนี้ไม่เหมาะกับเรา เราอยากพากย์เพื่อชนะไปกับเขา แพ้ไปกับเขามากกว่า”

“แต่นักพากย์ไม่ได้มีค่าตัวนะ ต่อให้มีงานใหญ่เชิญไปก็แค่หลัก 1,000-2,000 บาท ถ้าจะกัดฟันนั่งเรือหรือนั่งรถเมล์ไปเดอะ มอลล์ บางกะปิ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานก็เหนื่อย แล้วงานไม่ได้อยู่เช้ากลับบ่าย แต่บางทีเช้าถึงดึก อีกวันก็มาทำต่อทำให้รายได้ไม่ค่อยดี จะออกไปเป็นนักพากย์เต็มตัวจึงยังไม่แน่นอน”

“ยุคนั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่จะจ่ายเงินเดือน ต้องออกไปพากย์ตามงานอย่างเดียว ณ ตอนนั้นผมมองว่าเป็นได้แค่อาชีพเสริมก็ต้องอยู่กับบริษัทเท่านั้นที่จะรับเราเข้าทำงานในตำแหน่งนี้”

เกมอาจได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่กับอุตสาหกรรมอีสปอร์ตยังคงไม่เฟื่องฟู แพลต์ฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆยังมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้แคสเตอร์ หรือ สตรีมเมอร์ ยังไม่มีช่องทางหารายได้จากเกม แน่นอนว่า รวมถึงอาชีพนักพากย์ด้วย 

แบงค์ ที่ทุ่มเทกับงานนักพากย์จึงยังเปลี่ยนเป็นอาชีพเต็มตัวไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องทำงานภายใต้บริษัทเกมเพื่อจะได้เป็นนักพากย์ไปด้วย แต่วันหนึ่งเมื่อทุกอย่างถูกบ่มเพาะมายาวนานก็ถึงเวลาที่เขาจะก้าวเท้าออกจาก Comfort Zone เสียที

Cyberclasher

ก้าวข้าม Comfort Zone ครั้งที่ 2

มนุษย์ทุกคนเมื่อได้อยู่ใน Comfort Zone มีน้อยคนที่จะกล้าออกมาเผชิญชีวิตที่ไม่แน่นอน แต่ แบงค์ กล้าที่จะก้าวออกมา

ก่อนหน้านี้เขาก้าวออกจาก Comfort Zone ครั้งแรกมาแล้วตอนตัดสินใจออกจากบ้านเกิดมาทำงานที่กรุงเทพฯ และครั้งนี้เป็นอีกหนที่เขารู้ดีว่า อนาคตที่รออยู่ไม่มีอะไรที่คาดเดาได้ เขารู้เพียงแค่ หากย่ำอยู่กับที่ความฝันที่วาดไว้คงไม่มีวันเป็นจริง

“ช่วงนั้นผมทำไลฟ์สตรีมเยอะมาก เยอะจนรู้วิธีการเซ็ตงานในโปรดักชั่นส์ขนาดเล็กหรือกลางว่าเป็นอย่างไรต้องใช้กล้องอย่างไร เดินสายอย่างไร วางระบบอย่างไรเลยคุยกับเพื่อนว่าอยากออกไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเกม ประจวบกับได้ไปเจอพี่คัตโตะ(นักร้องนำวง Lipta) เขาทำช่องเสือร้องไห้กำลังหาคนทำไลฟ์สตรีมมิ่งก็ลองไปสมัครเขารับ เข้าทำงาน ผมทำปีกว่าๆแล้วมีหลายคนถามว่า ทำไมไม่ลองไปพากย์ Dota 2 ตอนนั้นผมไม่ได้พากย์เกมแล้ว ผมไม่ได้แตะ Dota 2 เลย ตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ TI 1 มีดูบ้าง ID ก็ได้มาตั้งแต่เป็นคนแรกๆของไทย แต่ไม่ได้แตะ”

“ผมลองพากย์ขำๆดูกระแสตอบรับไปก่อน จำได้ว่าทัวร์แรกที่กลับมาทำคือปี 2016 พากย์บนยูทูป ตอนนั้นเริ่มพากย์จากทัวร์ที่คนไม่ค่อยดู มันไม่ใช่พีคไทม์คือโซน อเมริกาเหนือ ที่จะเริ่มตี 3 จบ 10 โมงเช้า คนดูก็หลัก 10-100 คน ถือเป็นเรื่องดีนะเพราะเรายังโนเนมก็ทำไปเรื่อยพอเริ่มลงตัว 4-5 เดือน ผมก็ลองไปพากย์ทัวร์ใหญ่ตามเอเชีย ยุโรปในเวลาพีคไทม์ ซึ่งกระแสตอบรับดี ทำให้อาชีพนี้มันน่าจะเริ่มอยู่ได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีเงินเดือนแน่นอน”

หลังจบการแข่งขัน TI 6 การพากย์ของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น กระทั่งได้รับการติดต่อจาก Twitch กับข้อเสนอที่ทำให้เห็นว่า งานพากย์สามารถสร้างเงินเดือนได้ 

การทำงานกับช่องเสือร้องไห้ เขามีเงินเดือนที่แน่นอน ไม่ต้องห่วงเรื่องความมั่นคงในอาชีพ แต่เมื่อสิ่งที่ใช่รออยู่ตรงหน้า เขาไม่รอช้าตัดสินใจขอลาออกจาก เสือร้องไห้ ซึ่งทาง คัตโตะ ก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้

แบงค์ ได้ร่วมงานกับ Twitch และก้าวสู่นักพากย์อาชีพเต็มตัว



คนไทยหนึ่งเดียวใน TI 7

ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจับงานพากย์เต็มตัว วันนี้เขาไม่ต้องเข้างานเลินงานตามเวลา ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือการได้ทำในสิ่งที่ชอบ

“มันเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว เราไม่ต้องลุกไปไหน ตื่นมาในห้องสี่หลี่ยมที่คอนโด โต๊ะทำงานอยู่ตรงนี้ พากย์เสร็จ อาบน้ำนอน ว่างก็ลงไปฟิตเนสบ้าง ชีวิตเปลี่ยนเยอะเหมือนเราให้เวลากับมันเยอะขึ้น แต่ Dota ต้องนั่งใช้เสียง พูดโต้ตอบกับคนดูอาจจะ 5 ไปจนถึง 18 ชั่วโมง เยอะมากๆ แต่ทำด้วยความสนุก เต็มใจที่จะทำเลยทำได้เรื่อยๆ” 

ภาษาอังกฤษคือสิ่งสำคัญในวงการอีสปอร์ต ทั้งเกี่ยวกับงานข่าว และงานพากย์ หลายครั้งจะต้องสัมภาษณ์นักกีฬาเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือแปลข่าวต่างๆ

ตัวเขาเองแม้จะอ่อนภาษา แต่ก็ไม่เกินความสามารถในความพยายามฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ

“จริงๆผมอ่อนภาษาอังกฤษมาก 7-8 ปี ก่อนที่เข้ากรุงเทพฯใหม่ๆ ผมอ่านไม่ออกเลยสักคำ ผมพยายามนั่งดูเกมไปอ่านไปคำไหนไม่ได้ก็ค้นใน dictionary จำไปเรื่อยๆเหมือนที่พากย์ Wild Rift ว่าอันไหนคือสกิลอะไร”

กราฟชีวิตในบทบาทนักพากย์ยังคงพุ่งสูงเมื่อต่อมา เขาได้รับโอกาสเดินทางไปพากย์เกมที่ต่างประเทศในรายการ The Manila Masters ทัวร์นาเมนต์ Dota ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ South East Asia(SEA) จากการสนับสนุนของ Mineski Infinity ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ในฟิลิปปินส์ และเป็นพาร์ทเนอร์กับเขา

“ตอนนั้นเป็นคำเชิญของทาง Mineski ผมเป็นพาร์ทเนอร์กับเขาก็เชิญไปพากย์ ตอนนั้นเขาอยากให้มีคนไทยพากย์ เพราะมีคนไทยแข่งอยู่นั่นคือ Jabz (อนุชา จิระวงศ์ ปัจจุบันสังกัด Fnatic) ที่ตอนนั้นอยู่กับทีม Faceless เมื่อเป็นรายการระดับ SEA เขาต้องเอาไปหมดมีอินโดนีเซีย, ฟิลิปินส์, อังกฤษ น่าจะมีจีนด้วยแล้วก็เชิญเราไป”

“ตื่นเต้นนะ นั่นเป็นรายการที่ได้พากย์ระดับเอเชียอย่างเป็นทางการ ก็ได้ไปพากย์ที่ กรุงมะนิลา จากนั้นเขามีอะไรก็เรียกใช้งานเราถือว่าเป็นจุดสูงสุดที่เราเคยหวังไว้ จริงๆผมหวังแค่ให้มีใครจัดแข่งขันในไทยก็โอเคแล้ว แต่นี่มันเกินคาด และเร็วมากที่ได้รับโอกาสนั้น”

หลังจบ The Manila Masters แบงค์ ได้ก้าวสู่อีกระดับของอาชีพนักพากย์ เพราะเขาคือคนไทยคนเดียวที่ได้พากย์ รายการ The International 2017 (TI 7) ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกม Dota 2

จากเด็กหนุ่มต่างจังหวัดผู้ชื่นชอบ Dota ผ่านมาแล้วในฐานะคนเล่น, ผู้จัดการแข่งขัน และเคยพากย์รายการในประเทศ วันนี้เขามาไกลเกินคาดคิดเมื่อได้พากย์ TI ให้คนไทยได้ดู

“ตอนแรกเราก็ลุ้นว่า เขาจะให้ Broadcast ที่ไม่ใช่ภาษาหลักของโลกพากย์ด้วยเหรอ ภาษาหลักของเขาคือ อังกฤษ, รัสเซีย, จีน แต่เราก็ติดอันดับท็อปของโลก ทาง Mineski เองก็อยากไปอยู่แล้ว เขาเคยเอาทีมงานคนฟิลิปปินส์ไปอยู่ใน TI6 ตอนเชียร์ TNC Predator มา TI 7 เขาก็อยากไปอีกรอบผมก็เลยได้โอกาส”

“แต่ผมยังเสียดายตลอดเวลาที่ปีนั้นไม่มีคนไทย เราอยากมีมุมอย่างคนฟิลิปปินส์ไปเชียร์ TNC แต่ก็คิดว่า TI 7 อาจไม่มีคนไทย แต่หวังไว้ลึกๆว่า ครั้งต่อๆไปมันจะต้องมี ซึ่งมันก็มีจริงๆคือปี 2018 ที่ Jabz ได้ไป”

แต่ในขณะเดียวกันในมุมมองของ แบงค์ การได้พากย์ใน TI ไม่ต่างจากนักพากย์ Dota ที่บรรลุจุดสูงสุดของอาชีพ ส่งผลให้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตเริ่มก้าวถอยหลัง เมื่อรู้สึกอิ่มตัว บวกกับเผชิญปัญหาส่วนตัว สิ่งที่เคยสนุกกลับไม่สนุกอีกต่อไป

สูงสุดสู่สามัญ

“หลังจบTI7 ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนมาก แต่เหมือนเราไปแตะจุดสูงสุดทำให้รู้สึกอิ่มกับตรงนั้น” แบงค์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่กำลังทำให้ทุกอย่างแย่ลง

“ด้วยอายุเยอะขึ้นไม่ได้สตาร์ทอายุน้อยๆ 20 ปีแบบเด็กทั่วไปที่มานั่งพากย์ต้งแต่ตอนอายุน้อย เลยคิดอยากเบาๆลงบ้าง ลองหาอย่างอื่นทำดู ศึกษาอย่างอื่น แต่ผู้ใหญ่บางคนบอกถ้าอันไหนไม่ได้ อย่าเสียเวลาไปทำ สุดท้ายผมก็กลับมาพากย์เหมือนเดิมในปี 2018”

“ปี 2020 เป็นปีที่ชีวิตผมดร็อปลงไปมากๆ ผมไม่มีใจเกี่ยวกับการทำงานเลย มันหลายอย่างทั้งปัญหาส่วนตัว ทำให้ทุกอย่างแย่ลง มันท้อไม่มีอารมณ์เลย พากย์ก็พากย์เดิมๆเราฟังเสียงตัวเองแล้วท้อตรงที่ว่า ไม่รู้ปีนี้หรือปีหน้าจะทำได้ดีเหมือนปีที่ดีที่สุดอย่าง 2017 ไหม เราอายุเยอะขึ้นความรับผิดชอบมีมากขึ้น คนดูก็พูดทุกวันว่า ทำไมไม่กลับแพลตฟอร์มเดิม มาอยู่ตรงนี้ดูยาก แต่บางอย่างก็ต้องรับไว้แล้วอธิบายเขา”

“ผมมีหลายอย่างที่เราต้องรับผิดชอบ มันไม่ได้ทำทุกอย่างได้เหมือนตอนวัยรุ่น ถือถ้าผมโตมาแบบมีเงินสักก้อนรองรับผมก็สามารถทำตรงนั้นได้ มันก็เลยทำให้ผมอยู่ตรงพื้นที่เซฟโซน ยิ่งในช่วงโควิดก็กระทบหลายอย่างต้องเซฟโซนเข้าไปอีก”

จากความกระหายอยากมุ่งไปข้างหน้า แต่ปัญหาที่รุมเร้าทำให้ แบงค์ วิตกกังวลกับหลายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิต นอกจากนี้ยังมีเรื่องด้านลบถาโถมเข้ามาตลอด ก่อนหันไปทำบทวิเคราะห์เพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ แต่กระแสตีกลับอย่างหนัก ว่านั่นไม่ใช่ตัวตนของเขา แบงค์ จึงเลือกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ทำงานด้วยไฟที่กำลังมอดไหม้ถึงขนาดพากย์เกมไปอ่านการ์ตูนไป

ซ้ำร้ายเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อความโชคร้ายกลับมาเล่นงานเขาอีกครั้ง ครั้งนี้หนักถึงขั้นทำให้เงินเก็บทั้งชีวิตแทบหมดตัว และกลายเป็นเรื่องหลอนฝังใจ

“ตอนช่วงปี 2018-2019 มีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตเกี่ยวกับเรื่องโดน ผมโดนโกงเงินในการลงทุนแบบผิดๆ และโดนโกงเงินการจ่ายเงินล่วงหน้า เพื่อรับทำงานทัวร์นาเมนต์ ระดับ SEA ที่มีแต้ม DPC( Dota Pro Circuit)ด้วย” 

“เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมล้มไม่เป็นท่า เงินเก็บแทบหมดตัว ทำให้ท้อ และเป็นแผลใหญ่ที่สุดที่ตามหลอกหลอน มาตลอดทั้งปี 2018-2020”

อย่างไรก็ตาม เขารู้ดีว่าต้องสลัดช่วงเวลาเลวร้ายออกไปให้ได้ ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มใหม่เพื่อดึง Cyberclasher คนเดิมกลับมาอีกครั้ง 

“วันหนึ่งผมตื่นมานั่งคิดย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 เราทำได้ดีมาก เราเต็มที่กับมัน สู้ทุกอย่าง ผมตัดสินใจรีเซ็ตตัวเองใหม่ ตั้งเป้าว่า จะทำให้ดีขึ้น มันอาจไม่เหมือนเดิม แต่ให้ได้ 80-90% ที่เคยทำได้ก็โอเคแล้ว”

ภัยพิบัติระดับหมอลำซิ่ง

หนึ่งในคำฮิตติดปากของหมู่สาวก Dota 2 คงหนีไม่พ้นประโยค “ภัยพิบัติระดับหมอลำซิ่ง” จากการเล่นคำของ แบงค์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือประโยคเด็ดที่มีส่วนทำให้เขาได้กระแสตอบรับที่ดีจากแฟนๆอีกครั้ง และช่วยจุดไฟที่เคยมอดดับให้ลุกโชน

“จริงๆคำนี้ไม่ได้มีอะไรหรอก คือผมสนิทกับพี่โตช่อง Hello SoYeah เราเล่น GTA ด้วยกัน ชอบเล่นเป็นคนไทยที่พูดติดอีสาน เพราะเราเป็นคนอีสานเหมือนกัน อยู่สังกัดเดียวกันด้วย พี่เขาก็คิดคำขึ้นมาเอามาแซวทำให้คำนี้ติดในเกม Dota ที่เล่นกัน”

Arteezy ปีศาจ 2 ดาบทอง vs 23Savage ดาบล่องนภา ความเดือดระดับ TI – AniMajor T1 vs EG game 2

Arteezy ปีศาจ 2 ดาบทอง vs 23Savage ดาบล่องนภาความเดือดระดับ TI – AniMajor T1 vs EG game 2

Posted by Cyberclasher on Sunday, June 13, 2021

“จริงๆไม่มีอะไรเป็นความฉิบหายเฉยๆ แต่เราใส่กิมมิคว่า หมอลำมันสนุกมากนะ คนรุ่นใหม่จะฟังประมาณรถแห่เอาเพลงมาเล่นมันๆ มีคำไทยซ่อนอยู่เยอะเพลงไทยในกระแสมาโคฟเวอร์ แต่หมอลำฟังยาก เลยพยายามจะบอกตรงนั้นว่า หมอลำมันสนุกก็เอามาเป็นคำตลกในเทรนด์ตอนนี้ได้”

“ผมก็ไม่คิดว่ามันจะฮิตกันขนาดนี้ ก็มาจากปั่นกันเล่นเฉยๆ แต่ดีใจที่คำนี้ถูกใช้ทั่วบ้านทั่วเมือง”

นอกจากจะสร้างประโยคเฉพาะตัว ปัจจุบัน แบงค์ ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ เทรนด์ใหม่ๆมานำเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของคอมมูนิตี้ เขาไม่หยุดแค่นี้ และยังคงก้าวต่อไปเรื่อยๆ

“ช่วงต้นปีนี้ ผมตั้งเป้าหมายครั้งใหม่คือทำให้ได้คุณภาพใกล้เคียงเหมือนเดิมที่เราเคยแจ้งเกิดในปี 2016 พยายามหาอะไรใหม่ๆเป็นส่วนเสริมที่จะทำให้คนดูไม่เบื่อจนเกินไป หาเทรนด์ใหม่ๆมาเล่น ช่วยให้ซัพพอร์ตคอมมูนิตี้ได้ จริงๆช่องผมส่วนใหญ่คนโตดูเยอะ เขาจะไม่ค่อยพิมพ์ เพราะมันอยู่ในแพลตฟอร์มที่เปิดเผยเลยนั่งดูอย่างเดียว แต่ผมพยายามบอกว่า คุยได้นะ แต่อยากฝากถึงคนดูบางทีไม่ได้อ่านคอมเมนต์ก็ขอโทษด้วย”

“ตอนนี้มีทดลองลองเอาคอนเทนต์ที่จะช่วยเรื่องคอมมูนิตี้มากขึ้นคือมีบทความยาว มีน้องคนหนึ่งมาช่วยว่า คอยดูตัวไหนควรหยิบมาพูด พยายามลงวันละคอนเทนต์ หากว่างก็วันเว้นวัน ไม่ได้เน้นข่าวสารเต็มที่ แต่เป็นบทความอ่านสนุกที่อยากให้มานั่งคุยกัน”

แบงค์ ยังคงได้พากย์เกมดังอีกหลายเกมไม่ว่าจะเป็น League of Legends: Wild Rift, Varolant, Dota 2 และถึงแม้จะพากย์หลายเกม ซึ่งคนละแนว แต่เขายังคงคุมคุณภาพการทำงานไว้ได้ลงตัว โดยใช้วิธีพากย์แบบ play by play ที่เป็นตัวตนของเขามาตลอด ทำให้เขายังเป็น Cyberclasher คนเดิมที่มีแฟนๆติดตามอยู่เสมอ

วงการนักพากย์ในวันที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน อีสปอร์ต ในประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดก่อเกิดทีมอีสปอร์ตที่มีทีมจากเกมต่างๆมากมาย นักกีฬามีเงินเดือนหลักหมื่นจนถึงหลักแสนพร้อมเงินรางวัลหลักล้านในหลายทัวร์นาเมนต์ แบงค์ ที่คร่ำวอดในวงการมานานมองว่า พัฒนาไปไกล แต่สุดท้ายยังมีบางเรื่องที่ทำให้นักกีฬาไทยก้าวไม่พ้นระดับ SEA

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมว่า มันโตมากในแบบที่โอเคเลย แต่คิดว่ายังไม่เพียงพอเรื่องการรองรับหลายอย่าง มันอยู่ที่เกมด้วยเงินรางวัลเยอะก็จริง แต่เราไม่ได้ก้าวเท้าออกจากไทยหรือ SEA ซะที อายุในการเล่นเกมของคนไทยมันน้อย เพราะคุณต้องเรียนจบม.6 หรือมหาวิทยาลัย จะมีเวลาสักเท่าไหร่ในการทำตรงนี้”

“บางคนอาจสู้ได้ เรียนไปเล่นไป แต่ก็มีน้อยครอบครัวที่ให้ตรงนี้ อย่าง 23savage(หนึ่งนรา ธีรมหานนท์ โปร Dota คนไทยสังกัด T1) น้องเรียนดีอยู่แล้วเขาเรียนเทียบได้ ใจเขาอยากเล่นด้วย แต่กลับกันคนเรียนได้ระดับกลางๆ หากจะลงทุนไปกับการเป็นโปรเพลยเยอร์ ถ้าตั้งใจจริงก็ทำได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าโอกาสตอนนั้นมันถูกเวลาหรือเปล่า เป็นการลงทุนค่อนข้างเสี่ยงเหมือนกัน”

Cyberclasher

อีกด้านหนึ่งอาชีพที่เติบโตไปตามกาลเวลาคือนักพากย์เกมที่ ณ เวลานี้มีนักพากย์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และสร้างรายรับได้ดีต่างจากยุคเริ่มต้น โดยมุมของ แบงค์ ในฐานะนักพากย์รุ่นพี่ เขายอมรับว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก และเดินทางมาไกลพอสมควร 

“วงการนักพากย์มันเปลี่ยนไปเยอะมากถึงมากที่สุด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะมีนักพากย์ล้นเหมือนนักกีฬาอีสปอร์ตในทุกวันนี้ มันไปถึงจุดนั้นยาก แต่ผมบอกทุกคนที่ถามถึงการเป็นนักพากย์ว่า ต้องตั้งใจอาจเป็นคำพูดสั้นๆหากผมพูดเหมือนตัวเองกำลังโม้ แต่เราไม่ได้เก่ง แค่อาจโชคดีก็ได้ แต่ยุคนี้นักพากย์ล้นตลาดอาจต้องสู้เยอะหน่อย”

“แต่ละคนต้องหาจุดเด่นให้เจอเพื่อไปอยู่จุดสูงสุดของนักพากย์ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เกม Dota ตอนนี้ผมเห็นนักพากย์ที่เคยอยู่ด้วยกันมาแล้วไปเติบโตกับเกมอื่นอย่าง RoV, PUBG, Valorant ก็มีหลายคน บางคนเก่งมาก แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นต้องหลายปีก็ขอให้อดทน”

“ถ้าเป็นอาชีพหลักยังไม่แนะนำอยากให้เป็นอาชีพเสริมมากกว่า หากจะทำเป็นหลักก็คงไม่พ้นบริษัทเกมหนึ่งเข้าไปเป็นพนักงานแล้วเอาสิ่งนี้เป็นอาชีพเสริมมันถึงจะเลี้ยง และสร้างชื่อเสียงได้ แล้วค่อยคิดอีกทีว่า เราจะออกจากคอมฟอร์มโซนมาทำนักพากย์ไหม”

การตัดสินใจที่คุ้มค่า

จนถึงวันนี้ความพยายามที่ผ่านมาทำให้เขาได้หวนคืนเวที TI 10 ศึก Dota 2 สุดยิ่งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง กับเสียงพากย์ที่แฟนๆคุ้นเคย แน่นอนว่า นี่คือสิ่งที่เขารอคอยเหมือนได้กลับสู่บ้านหลังเก่าอันแสนคุ้นเคย ได้เติมเต็มความรู้สึกเดิมเหมือนครั้งที่ได้พากย์ TI 7 ที่สำคัญความแตกต่างคือครั้งนี้เขากำลังจะได้พากย์การแข่งของคนไทยในศึก Dota ชิงแชมป์โลก

“ผมยังเต้นตื่นเหมือนเคย และ คิดถึงบรรยากาศ TI แล้ว แม้มันจะเป็น New normal ไม่มีคนดูในงานก็ตาม ซึ่งลึกๆ แล้วในแง่ของการพากย์ ผมอาจจะทำไม่ดีพอแน่ๆ แต่จะเร่งรักษาตัว เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เพื่อ กับการพากย์ ให้ทุกคนได้สนุกไปกับโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในปีนี้ ของ Jabz(Fnatic) และ 23Savage(T1) ครับ”

หากย้อนกลับไปนับจากวันแรกเขาเดินทางเข้าเมืองกรุงโดยมีฝันอยากทำงานเกี่ยวกับเกมจนวันหนึ่งนำพาตัวเองไปสูงจุดสูงสุดของอาชีพนักพากย์ที่ได้เข้าร่วมใน TI 7 หากมองย้อนกลับไป เขาไม่เคยนึกเสียใจที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้ แม้จะมีวันที่ล้มบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาได้เสมอ ที่สำคัญ เขายังได้อยู่กับสิ่งที่รักต่อไป

“ผมมองว่า ตัวเองโชคดีด้วย โอกาสที่เข้ามาผมก็เลือกจะคว้ามันไว้ จังหวะออก Comfort Zone ก็เหมาะเจาะ ตอน ทำ Dota 1 ก็มี HoN ดึงไปทำงานด้วย แต่ไม่ได้ตัดสินใจไป จากนั้น LoL สนใจดึงไปร่วมงาน แต่ก็ไม่ได้ไปอีก เพราะว่า บริษัทที่ทำมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา และหนาเกินกว่าจะตัดสินใจออกไป ถ้าวันนั้นผมออกมาไม่แน่ว่าหากผมไป HoN วันนี้อาจไป RoV ก็ได้”

“ชีวิตผมมันมีจุดเปลี่ยนหลายอย่างระหว่างทางที่เดินมา อาจหักเลี้ยวตรงนั้นไปโผล่ตรงนี้ แต่เมื่อตัดสินใจเดินเส้นทางนี้ผมก็รู้สึกขอบคุณกับความกล้าในการตัดสินใจของตัวเองในวันนั้น” แบงค์ ปิดท้าย

อ่านเพิ่ม: Lakoi DOTA2 หนุ่มวิศวะจุฬาที่ทำเพจ Dota2 เพราะอยากเห็นคนไทยก้าวสู่ระดับโลก