จากการแข่ง 6 เกม ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ ทัพนักกีฬาไทยคว้าไป 2 เหรียญทอง จากเกม RoV และ Tekken 7 ที่ “Book” นพรุจ เหมภมร โชว์ฟอร์มสุดยอดไม่แพ้ใครเลยจะกระทั่งแมตช์ชิงเหรียญทอง จนปลุกกระแสเกมไฟท์ติ้งให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในประเทศไทย

กว่าจะก้าวไปสู่เบอร์หนึ่งของอาเซียนได้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ONE Esports ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Book แบบตัวต่อตัว ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

เกลียดเกมไฟท์ติ้ง

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ Book ยังอายุเพียง 5 ขวบ Harvest Moon : Back to the Nature คือเกมที่เขาโปรดปรานมาก รวมถึงบรรดาเกมออนไลน์ยอดฮิตในร้านเกมสมัยนั้น ต่างก็ผ่านมือเขามาหมดแล้ว ทว่าเกมไฟท์ติ้ง กลับเป็นเกมที่เขาเกลียดที่สุด

“จริงๆแล้วตอนนั้นก็ไม่ได้เล่นเกมเยอะ ไม่ได้ชอบแนวไหนเป็นพิเศษด้วย แต่อยากจะลองเล่นเกมไฟท์ติ้งบ้าง ก็เลยไปยืมแผ่น Tekken 3 จากญาติมาเล่น” Book เริ่มเล่ากับ ONE Esports

“พอได้เล่นก็ไม่ค่อยชอบครับ เพราะเล่นแล้วแพ้ คนที่เราเล่นด้วยเขารู้วิธีกดท่า แต่เรายังเด็กก็กดมั่วๆ เอาจอยใส่เสื้อแล้วไถปุ่มมั่วๆเอา โดนต่อยจนไม่ได้ลุก รู้สึกเหมือนโดนโกงจนเลิกเล่นไปเลย”

เวลาต่อมาไม่นาน Book เล่นเกมหนักขึ้น และมันก็ไม่ใช่เกมอื่นใดนอกจาก Tekken 6 ภาคต่อของเกมที่เขาเคยเกลียดที่สุด เพียงเพราะเหตุผลว่าภาพสวย และอยากตกแต่งตัวละคร

“ช่วงประถมปลายผมเริ่มเล่นเกมหนักขึ้น เกิดจากการที่ผมไปดูหนังแล้วเห็นตู้เกม Tekken 6 เห็นว่าภาพมันสวยดี ”

“ตอนเด็กๆผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่า Tekken 3 มันคือเกมชื่ออะไร ตอนมาเล่น Tekken 6 ก็เลยแค่รู้สึกว่า เฮ้ย เกมมันคุ้นๆนะ เห็นตัวละครใส่ถุงมือสีแดงๆอย่าง Jin ก็คุ้นๆ แล้วตอนนั้นตู้ Tekken 6 จะมีระบบการ์ด คล้ายๆกับเป็นการเซฟ ใช้บันทึกสถิติการเล่น เก็บเงินแต่งตัวละครได้ ก็เลยลองเล่นเกมไฟท์ติ้งดู​อีกสักครั้ง”

“จริงๆที่ลองเล่นดูเพราะเห็นว่าเกมมันแต่งตัวละครได้ แล้วมันดูเท่ดี ใครเดินผ่านมาเห็นต้องหยุดดูเรา เหมือนเกมออนไลน์ที่เคยชอบเล่นเมื่อก่อน เวลาดร็อปชุด ดร็อปไอเท็ม ก็เอามาแต่งตัวละครได้เหมือนกัน”

สิงห์จอตู้

ระหว่างทางจากโรงเรียนกลับบ้าน Book จะแวะเล่นเกมอยู่เสมอวันละ 1-2 ชั่วโมง จนถูกทางบ้านถามว่าทำไมถึงกลับดึก และทุกสุดสัปดาห์ Book ต้องออกจากบ้านทุกวันเพื่อไปประจำการณ์ที่ตู้เกม และเคยเล่นนานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เลยทีเดียว

“เล่นกีฬากับเพื่อน และเรียนพิเศษ คือเหตุผลที่ผมบอกกับที่บ้านเมื่อกลับดึก”

“ช่วงขึ้นมัธยม เขาเริ่มสงสัยกันแล้วว่าเราออกไปไหนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ผมก็เลยไปบอกตรงๆว่าเราไปเล่นเกม เพื่อให้เขารู้ว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ไปเกเร มั่วสุมทำอะไรไม่ดี พอได้ยินแบบนี้ครอบครัวก็ดีใจที่เราไม่ได้ไปหมกมุ่นกับสิ่งไม่ดี แถมยังให้ค่ารถ ค่าเล่นเกมมาด้วย ก็โชคดีมากครับที่เขาไม่ว่าอะไรที่เราเล่นเกมเยอะ”

Book ใช้เวลาพัฒนาฝีมือ 5 ปี จนเริ่มเป็นจนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และแล้วก็ถึงเวลาที่เขาจะได้พิสูจน์ตัวเองในการแข่งขันระดับทัวร์นาเมนต์ครั้งแรกเสียที

ปี 2013 เป็นช่วงที่ Tekken Tag Tournament 2 กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการจัดแข่งขันรายการ SEA Major 2013 ที่ประเทศสิงคโปร์ แม้จะไม่ได้จำกัดว่าผู้เล่นจะมาจากโซนไหน แต่ผู้เล่นจากอาเซียนส่วนใหญ่ มักจะไปพิสูจน์ฝีมือตัวเองในงานนี้

“พอเล่นได้สักพักผมก็อยากเล่นเก่ง ต้องไปถามคนที่เขาดูเก่งๆว่ามันต้องเล่นยังไง ซึ่งก็โชคดีที่เขาสอนให้เราด้วย ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2009 ผมก็เล่นเกมตู้อย่างเดียวมาตลอด จนเริ่มรู้จักคนในวงการมากขึ้น”

“มีรุ่นพี่คนหนึ่ง เป็นผู้เล่นระดับท็อปของไทยในเวลานั้น มาทาบทามว่าสนใจจะไปแข่งรายการนี้ไหม เพราะเขาก็จะไปเหมือนกัน อยากหาเพื่อนไปด้วย ซึ่งเขาเห็นว่าผมเริ่มมีฝีมือ ก็เลยชวนว่าอยากลองไปแข่งไหม คนจะได้รู้จักเรามากขึ้น เพราะช่วงนั้น Tekken Tag Tournament 2 มีระบบ Ranking ทั้ผู้เล่นสามารถดูอันดับและสถิติของผู้เล่นโซนอื่นได้ ซึ่งผมจะติดอันดับ 1-2 โซนเอเชียตลอด เพราะตอนนั้นเล่นแบบติดมากๆ คนก็เริ่มอยากรู้จักว่า Book มันคือใคร ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาชวนผมไปแข่งด้วย”

ผงาดตั้งแต่ทัวร์แรก

ช่วงก่อนแข่ง SEA Major 2013 Book ยังคงศึกษาอยู่ในระดับ ม.4-5 ไม่มีรายได้พาตัวเองไปยังประเทศสิงคโปร์ จึงต้องไปปรึกษาแม่เพื่อขอเงิน

“ตอนแรกแม่ก็กลัวครับ เพราะว่ามันเป็นการเดินทางกับใครไม่รู้ รู้แค่ว่าเป็นรุ่นพี่ในวงการเกม ลูกเต้าเหล่าใคร นิสัยดีไหมก็ไม่รู้ จะหลอกเราไปรึเปล่า”

“แม่บอกว่าไปได้ แต่ขอคุยกับรุ่นพี่คนนั้นก่อน ได้เห็นหน้ากันก่อนเพื่อความสบายใจ สุดท้ายก็ไม่มีปัญหาอะไร แม่ไปส่งที่สนามบินแล้วก็ให้เงินมาจำนวนหนึ่งด้วย”

ม้ามืด คือคำจัดกัดความของ Book ใน SEA Major 2013 หลังระเบิดฟอร์มสุดยอดผงาดคว้าแชมป์ของรายการได้สำเร็จ จากนักสู้ทั้งหมดกว่า 40 ขีวิต และได้เงินรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านไป 7,000 บาท 

หลังจากนั้น Book ยังคงโลดแล่นในวงการ Tekken Tag Tournament 2 และมีได้ไปคัดตัวลงแข่งรายการ Global Championship ก่อนคว้าโควต้าของไทยเพียงหนึ่งเดียว ไปดวลกับผู้เล่นจากทั่วโลก และเป็นครั้งแรกที่เขาได้เจอคู่ปรับตัวฉกาจเป็นครั้งแรก

“รายการนั้นผมจบอันดับ 4 ไปแพ้ให้กับผู้เล่นฟิลิปปินส์อย่าง AK ที่ตอนนั้นอายุแค่ 13 ปี แล้วก็มีโอกาสได้เจอกับเขามาเรื่อยๆ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ส่วนใหญ่ผมจะแพ้เขามากกว่า”

AK คู่ปรับตัวฉกาจของ Book

เลิกเล่น Tekken

ปี 2015 Tekken 7 ได้ทำการเปิดตัวตู้เกมครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยสามารถเล่นออนไลน์เจอกับผู้เล่นคนอื่นได้ทั่วประเทศโดยไม่มีอาการกระตุก แม้ว่าในประเทศไทยจะมีตู้เกมมาลงให้สาวกหมัดเหล็กได้ลิ้มลอง แต่ก็ยังไม่สามารถเล่นแบบออนไลน์ได้

“ช่วงแรก Tekken 7 ไม่มีความสมดุลเลย เกมมันยังดูแปลกๆอยู่ แต่ก็มีโอกาสได้ไปแข่งบ้าง มีสปอนเซอร์สนับสนุนไปแข่งที่ญี่ปุ่น”

“แต่หลังกลับมาจากญี่ปุ่น ช่วงปี 2016 ผมว่างมากๆ ไม่ได้ลงแข่งเลย จริงๆแล้วช่วงปลายปี 2015 ถึงต้นปี 2016 เป็นช่วงที่ผมคิดอยากเลิกเล่นมากที่สุดแล้ว เพราะงานแข่งน้อย ไม่มีท่าทีถึงความน่าตื่นเต้น เราเล่นมานานด้วย ก็รู้สึกอิ่มตัว”

ระหว่างนั้นที่หยุดเล่น Tekken ได้หนึ่งปี Book ตัดสินใจไปลองเล่น Street Fighter V แทน เพราะได้ยินคำพูดของบางคนว่า ใครที่เล่น Tekken เป็นหลัก จะไม่สามารถเล่น Street Fighter ได้

“ผมก็รู้สึกถูกท้าทาย แล้วผมเป็นคนที่ชอบความท้าทายด้วย ก็เลยเอาดิวะ อันดับ 1 ใน Tekken มาแล้ว เดี๋ยวจะเป็นอันดับ 1 ใน Street Fighter ให้ดู”

“หลังจากเล่นได้สักพักก็เริ่มลงแข่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ชอบแพ้งานเล็กๆ แล้วไปชนะรายการใหญ่ๆ แต่ก็รู้สึกพอใจกับตัวเองแล้ว เพราะได้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เล่น Tekken ได้แค่เกมเดียว”

Street Fighter V

ก้าวสู่ระดับอาชีพ

ภายหลังจากที่ Tekken 7 วางจำหน่ายอย่างเต็มรูปแบบทั่วโลก Book แทบไม่ได้เล่น Street Fighter ต่ออีกเลย ก่อนที่จะได้รับโอกาสจากทีมในมาเลเซียอย่าง Flash Vision ติดต่อไปร่วมทีมด้วย และพวกเขาคือต้นสังกัดแรกอย่างเป็นทางการของเขา

แม้ Flash Vision จะไม่ได้มีเงินทุนเยอะ แต่พวกเขาก็ให้โอกาส Book มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้ สนับสนุนส่งไปแข่งขันทั้งในมาเลเซียกับสิงคโปร์ ทั้งที่ผลงานส่วนตัวของเขายังไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก

ปี 2017 บริษัทผู้ผลิตเกม Tekken อย่าง Bandai Namco Entertainment ได้จัดทัวร์นาเมนต์แข่งขันอย่างจริงจังเป็นรายการแรกคือ Tekken World Tour โดยจะมีรายการย่อยแข่งขันเก็บคะแนน เพื่อหานักสู้ 20 คน ไปแข่งในอีเวนท์ใหญ่

“ในปีนั้น ผมได้ไปแข่งรายการเดิมคือ SEA Major ที่สิงคโปร์ คนก็อยากเห็นเราได้ไปแข่งในรอบไฟนอล เพราะเป็นคนไทยคนเดียวที่มาแข่งงานนี้”

“จนเข้าไปถึงรอบท็อป 8 ได้ คนก็เริ่มวิเคราะห์กันใน Twitter แล้วว่าใครจะได้เข้ารอบบ้าง ซึ่งผมต้องจบไม่ต่ำกว่าอันดับ 2 เพื่อที่จะได้ไปแข่ง Tekken World Tour ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ยากมาก”

“สุดท้ายผมจบอันดับ 7 ไม่สามารถไปถึง Tekken World Tour ปีแรกได้ ก่อนจะมามาลุยแข่งทัวร์นาเมนต์ในไทยทั้ง Tekken และ Street Fighter ที่แม้จะไม่ค่อยได้เล่นแล้ว แต่ก็ไม่อยากพลาดโอกาสลงแข่งไป”

ปี 2018 Alpha Red ทีมอีสปอร์ตส์ชื่อดังของไทย ได้จัดแข่งขัน Street Fighter V ที่ Book ผงาดคว้าแชมป์ และมีโอกาสได้รู้จักกับคนในทีม Alpha Red ซึ่งกลายเป็นต้นสังกัดที่สองในชีวิตของเขา

“เขาบอกว่าถ้าอยากให้ช่วยอะไร ทักมาได้เลยนะ”

“จริงๆคนมาพูดแบบนี้ ผมไม่เคยคิดอะไรเลย จนกระทั่งกลางปี 2018 เริ่มมีการเปิดเผยระบบแข่งขัน Tekken World Tour 2018 ผมเห็นแล้วก็อยากเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ได้ไปแข่งรายการนี้ ก็เลยเริ่มหาทีมสนับสนุน”

“อยู่ๆก็นึกถึงคำพูดของพี่จากทีม Alpha Red ได้ ผมเลยทักไปหาเขาเลย ปรากฏว่าเขาเอาด้วย ก็ดีใจมากจริงๆครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Alpha Red”

World Tour ครั้งแรก

ปี 2018 Book ลงแข่งขันถึง 7 ทัวร์นาเมนต์ จนกระทั่งเก็บแต้มทำอันดับไปแข่งใน Tekken World Tour 2018 ที่อัมสเตอร์ดัมได้สำเร็จ

แม้จะก้าวไปสู่รายการยิ่งใหญ่ที่สุดของ Tekken 7 ได้ แต่ด้วยหลายๆอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการออกจากทีม Alpha Red บวกกับสภาพจิตใจที่ไม่สู้ดี ทำให้ Tekken World Tour ปีแรกของ Book พ่ายแพ้แบบหมดรูป แม้จะน่าเสียดาย แต่เจ้าตัวก็ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในนักสู้ของทัวน์นาเมนต์ Tekken ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

แต่ไม่นานนัก Book ก็ได้ต้นสังกัดใหม่อีกครั้ง

“ปี 2019 ผมเป็นผู้เล่นไม่มีสังกัด แต่มีทีมญี่ปุ่นชื่อ Walker Gaming มาถามว่าผมมีเวลาว่างไหมประมาณ 2 สัปดาห์ จะชวนไปลงแข่ง 2 ทัวร์นาเมนต์ หนึ่งในนั้นคือ EVO Japan 2019 ผมก็ตอบตกลงทันทีเลย”

“ทุกทัวร์นาเมนต์ของ Tekken ผมจะคาดหวังแค่ว่าขอแค่ท็อป 8 ก็พอ เพราะจะได้จัดแข่งในวันสุดท้ายของอีเวนท์ สุดท้ายก็สามารถเอาชนะโปรเพลเยอร์มา 5 คน ฝ่าไปจนถึงรอบท็อป 8 ได้ ซึ่งผมก็แปลกใจตัวเองเหมือนกัน เพราะการที่จะเอาชนะโปรเพลเยอร์ได้คนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

ท้ายที่สุดแล้ว Book จอดป้ายที่อันดับ 7 จากการพ่ายแพ้ให้กับ Arslan Ash โปรเพลเยอร์ชาวปากีสถาน ที่สามารถคว้าแชมป์ได้ภายหลัง และโด่งดังเป็นพลุแตกขึ้นมาทันที จนทำให้เกิดคำถามว่าทำไมสิ่งที่เขาพยายามมานาน Arslan Ash กลับทำได้อย่างง่ายดาย

“ยอมรับนะครับว่า Arslan เขาเก่งจริงๆ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ คิดว่าสู้เขาได้เหมือนกัน ก็จะพยายามพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ”

อีกสักตั้งกับ World Tour

ในขณะที่ Tekken World Tour 2019 กำลังจะกลับมาเปิดสังเวียน Book ก็เริ่มหาทีมใหม่อีกครั้ง

“ตอนแรกคิดว่าจะไปขอทีมไทยอยู่ด้วย แต่คิดว่าคงไม่มีใครสนใจ เลยไม่เอาดีกว่า”

“ผมมองตามความเป็นจริงว่า ใครทำทีมก็ต้องการเกำไร ซึ่ง Tekken ไม่ใช่เกมที่ตอบโจทย์ เพราะมันยากมากในการที่ผู้เล่นคนหนึ่งจะต้องชนะทุกงานเพื่อให้ทีมได้กำไร ก็เลยคิดว่าลองไปคุยกับทีมต่างประเทศแล้วกัน”

“ก็มีคนแนะนำมาว่าถ้าจะหาทีมต่างประเทศ ต้องคุยกับทีมไหนบ้าง ไล่ถามไปเรื่อยๆจนได้ Talon Esports มาเป็นผู้สนับสนุนใหม่”

“รายการแรกที่เขาส่งไปแข่งคือ Taiper Major 2019 ก็ทำผลงานได้ดี คว้าอันดับ 4 มา เขาก็อยากให้เราได้ไปแข่ง World Tour อีกครั้ง ก็เลยสนับสนุนเราลงแข่งรายการต่อไปเรื่อยๆ”

ปี 2019 ทุกอย่างดูจะเป็นใจให้กับ Book ทั้งการมีต้นสังกัดใหม่ และได้เป็นตัวแทนซีเกมส์ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ก็ได้มีโอกาสไปแข่งที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ รวมถึงในเดือนตุลาคม ยังได้ไปเก็บตัวช่วงก่อนแข่งซีเกมส์ที่ประเทศเกาหลีอีกด้วย ทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง และเตรียมพร้อมก่อนแข่งในเดือนธันวาคมอย่างเต็มที่

“ด้วยความที่ผมไปแข่ง World Tour มาเยอะมาก ทำให้ผมรู้จักโปรเพลเยอร์เกาหลีหลายคน”

“ตอนไปเก็บตัวก็เลยทักหาแต่ละคนว่าใครว่างมาช่วยผมซ้อมบ้าง ซึ่งทุกคนก็พร้อมช่วยและให้คำแนะนำได้ดีมาก เขาก็ให้กำลังใจด้วยว่าเรามีโอกาสได้เหรียญทองซีเกมส์สูง เพราะในภูมิภาคอาเซียน ผมมีโอกาสไปไปทัวร์มากกว่าใคร”

ในซีรีส์ World Tour 2019 Book ตระเวนแข่งมากถึง 10 งาน แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถทำอันดับไปถึงรอบไฟนอลได้ ทว่ายังมีโอกาสแก้ตัวในรอบ Last Chance Qualifier หาผู้ชนะแค่คนเดียวเท่านั้นไปแข่งรอบไฟนอล ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงแข่งซีเกมส์พอดี

“ตอนแรกทางสมาคมอีสปอร์ตส์จะให้ผมไปฟิลิปปินส์ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม แต่เนื่องจากรอบ Last Chance Qualifier ตรงกับวันที่ 7 ธันวาคม และงานจัดแข่งในไทยพอดี คนไทยก็เชียร์กันดังมาก แต่ด้วยกระแสของ Arslan ทำให้ชาวปากีสถานมาแข่งเยอะมาก ซึ่งแต่ละคนท็อปๆทั้งนั้น”

“พอเราชนะปากีสถานได้คนหนึ่ง แต่ก็มาแพ้ให้กับ Bilal ชาวปากีสถานอีกคนในรอบ Winners Finals แล้วก็ไปแพ้ให้ AK อีกครั้งในรอบ Losers Finals สุดท้ายเป็น Bilal ที่ได้โควต้ารอบไฟนอลคนสุดท้ายไป แต่ผมก็คิดว่าแพ้ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปเต็มที่เอาในซีเกมส์ งานแข่งก็ส่งท้ายปีก็ได้”

“จริงๆแล้วผมก็ท้อนะ เพราะทุกรายการ World Tour ผมจบแต่อันดับ 7-9 มาตลอด ยกเว้นงานแรกที่ไทเป มันทำให้ผมเลิกคาดหวังจะเข้ารอบลึกๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้เรียนรู้ที่จะเลิกคาดหวังด้วยเช่นกัน”

รับใช้ชาติครั้งที่สอง

Book ออกสตาร์ทในซีเกมส์ได้อย่างสวยงาม โชว์ฟอร์มดุชนะรวดตีตั๋วเข้าสู่ Winners Semi-Finals เช่นเดียวกับ Shin Akuma อีกหนึ่งตัวแทนทีมชาติไทย ซึ่งพวกเขาทั้งสองต้องไปเจอ 2 นักแข่งเจ้าภาพด้วยกันทั้งคู่ คือ AK และ Doujin

ก่อนหน้านี้ การลงแข่งในนามทีมชาติไทยรั้งแรกของ Book คือ Esports World Championship 2017 ที่ปูซาน ซึ่งเขาคว้าตำแหน่งรองแชมป์โดยแพ้ให้กับ Doujin เท่ากับว่าเขาเคยแพ้สองผู้เล่นฟิลิปปินส์มาหมดแล้ว

สองตัวแทนฟิลิปปินส์ใน ซีเกมส์ 2019

“ในรอบแรกของ Winners Semi-Finals ผมต้องเจอกับ AK ซึ่งตอนแรกผมกลัวว่าจะสู้ยังไงดี เพราะเราแพ้เขามาตลอด แต่ก็คิดว่าเขาคงจะต้องกลัวผมมากกว่า เพราะถ้าเขาแพ้ผมในบ้านตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ”

“นอกจากนี้ผมก็ไม่สนใจว่าจะแพ้หรือชนะ ผมแค่อยากลงไปเล่น และทำตามแผนตัวเองให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยา ทำให้ผมได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเราพลาดเพราะอะไร ทำไมถึงพลาด”

นอกจากได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาแล้ว การเปลี่ยนตัวละครหลักจากตัวเก่งของเขาอย่าง Jin ไปเป็น Akuma ทำให้ผลงานของเขาร้อนแรงสุดๆ

“Shin Akuma อยู่ในรอบแบ่งกลุ่มร่วมกับ AK แล้วเขาสามารถใช้ Akuma เอาชนะ AK มาได้ 2-1 ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเขาใช้ Akuma แล้วเอาชนะ AK ได้ ผมก็จะลองให้ Akuma เจอกับ AK เหมือนกัน”

“ด้วยความที่การแข่งขันในรอบ Winners Semi-Finals จะเป็นระบบ Bo5 ผมเลยคิดว่าถ้าลองเล่น Akuma แล้วแพ้ไปสักเกมคงไม่เสียหายอะไร ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด ชนะ 3-0 เลย”

ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งตัวแทนไทยอย่าง Shin Akuma เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ในรอบ Winners Finals คู่ต่อสู้ของ Book คือ Doujin

“แมตช์กับ Doujin ผมเปลี่ยนไปใช้ Geese เพราะมีเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งบอกว่าผมเล่น Geese น่ากลัวกว่า Jin เยอะ และจะมีโอกาสเข้ารอบชิงชนะเลิศทุก World Tour ที่ผมไปด้วยซ้ำ เลยคิดว่าต้องลองสักตั้ง”

“จริงๆแล้วความคิดของผมมีสองแบบคือ แพ้ชนะไม่เป็นไร โฟกัสกับสิ่งที่จะทำ และ อย่าไปซีเรียสเรื่องตัวละครมาก อย่าอีโก้เยอะ เพราะการมาในนามทีมชาติ คนไม่จำหรอกว่าเราเล่นตัวอะไร อาจจะไม่จำด้วยซ้ำว่าเราชื่ออะไร รู้แค่ว่าเราเป็นตัวแทนทีมชาติไทย และอยากเห็นเราได้เหรียญ ก็คงไม่เป็นไรหรอกถ้าเลือกตัวไม่ถูกใจแล้วจะโดนด่า”

“ถ้าแพ้คนอาจจะไม่จำเหมือนกัน แต่ก็เป็นไร สุดท้ายได้อย่างสิ่งที่อยากลองก็พอแล้ว และผมก็เอาชนะ Doujin ได้ 3-1”

ผลจากการพ่ายแพ้ Book ทำให้สองตัวแทนเจ้าภาพต้องไปเจอกันเองในรอบ Losers Finals ก่อนที่ AK จะเป็นฝ่ายเอาชนะ Doujin ได้  3-2 ได้โอกาสล้างตากับ Book อีกครั้ง

“ผมอยากรู้ว่าโค้ชคิดยังไงเรื่องตัวละคร จริงๆผมคิดไว้แล้วว่าจะเล่นตัวอะไร แค่อยากได้ความมั่นใจจากคนรอบข้าง ซึ่งเขาก็ให้กำลังใจเต็มที่ ทำตามที่เราต้องการ อยากลองอะไรทำได้เลย ไม่ใช่ปัญหา เลยตั้งใจว่าจะใช้แต่ Akuma เจอกับ AK ในรอบชิงเหรียญทอง”

หลังจากมีบทเรียนในรอบ Winners Semi-Finals มาก่อน AK ก็ทำการหยิบ Akuma มาวัดฝีมือกับ Book ที่ใช้ตัวเดียวกัน แต่เป็นฝ่ายนักแข่งชาวไทยที่ทำได้เหนือกว่า เอาชนะทำสกอร์ขึ้นนำ 2-1 จนนักสู้เจ้าภาพต้องเปลี่ยนไปเล่น Shaheen จนตีเสมอ 2-2 ได้สำเร็จ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว Book ก็เป็นฝ่ายย้ำแค้น เอาชนะไปได้แบบสุดระทึก 3-2 พร้อมคว้าเหรียญทองให้กับทัพนักกีฬาไทยได้อย่างยิ่งใหญ่

“จริงๆแล้วผมอยากเอาชนะด้วย Jin เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถเอาชนะได้ด้วยตัวละครหลัก แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองเช่นกันว่าสามารถเป็นแชมป์ได้สักทีในปีนี้ แม้ว่าจะด้วยตัวละครที่ไม่ใช่ตัวหลักก็ตาม”

แม้จะเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลได้ แต่ Book กลับไม่ออกอาการดีใจ อีกทั้งยังทำหน้านิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และนี่คือสาเหตุ

“จริงๆแล้วมันเป็นความผิดพลาดของทีมงานด้วย เพราะเขาไปฉายภาพกองเชียร์ก่อน ไม่ได้ถ่ายมาที่ผมหลังจากชนะทันที”

“หลังจากชนะผมแสดงความดีใจช็อตนึง แล้วจะลุกไปจับมือกับ AK แต่เห็นว่าเขาปิดหน้าร้องให้อยู่ ผมเข้าใจเขานะ ในฐานะผู้เล่นเหมือนกัน การพลาดโอกาสและยิ่งในนามทีมชาติต่อหน้าแฟนๆในบ้านตัวเองด้วยมันน่าเสียดาย แถมใน EVO Japan กับ Last Chance Qualifier เขาก็ได้ที่ 2 เหมือนกัน กลายเป็นว่าได้ที่ 2 ไปรอบ 3 ในปีเดียวเลย”

เรื่องของอนาคต

สิ่งหนึ่งที่ Book ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน คือตั้งแต่ช่วงทำอันดับไปแข่ง World Tour เขายังคงศึกษาอยู่

“จริงๆปีนี้ผมต้องจบแล้ว ทั้งการเรียน กับการแข่งขัน World Tour ผมไม่อยากพลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป จึงเลือกทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน”

“โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ เพราะบางครั้งต้องขาดเรียน แต่เขาก็ให้สิทธิพิเศษเรามากกว่าคนอื่น ซึ่งเพื่อนๆก็เข้าใจว่าเราเหนื่อยจริงๆ เพราะผมไม่ได้เรียนในกรุงเทพฯ รถส่วนตัวก็ไม่มี ต้องนั่งรถไปถึงชลบุรีเอง แล้วบางครั้งก็ต้องรีบกลับเพราะมีนัด หรือมาแข่งต่อ”

“ถ้าถามว่าซีเกมส์กับสอบ ผมเครียดกับอะไรมากกว่ากัน ผมตอบไม่ต้องคิดเลยว่าสอบ”

ข่าวร้ายที่ Book ไม่อยากรู้ ดันมาเกิดขึ้นก่อนแข่งซีเกมส์ จนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาอาจจะดูนิ่งเฉยตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์

“ผมรู้เกรดก่อนไปซีเกมส์หนึ่งสัปดาห์ว่า มีวิชาที่ผมไม่ผ่าน”

“เหมือนวิญญาณจะหลุดออกจากร่างเลย จากที่คาดหวังว่าจะจบก่อนแข่งซีเกมส์ น่าจะเป็นอะไรที่ดีอยู่ ปรากฏว่าไม่ผ่านตัวเดียว ผมเลยเซ็งมากๆ แล้วก็นั่นแหละครับ เป็นหนึ่งเหตุผลที่ผมไม่ดีใจในซีเกมส์ เพราะรู้สึกว่าต้องไปๆกลับๆชลบุรี 3-4 เดือน อีกแล้ว”

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ช่อง Youtube ของเกม Tekken 7 ได้ทำการปล่อยคลิปวิดีโอตัวละครใหม่ล่าสุดประจำเกมในซีซั่น 3 อย่าง Fahkumram นักสู้สไตล์มวยไทย ที่ยังมาพร้อมเสียงพากย์ภาษาไทยอีกด้วย

“ตอนแรกที่ผมเห็น Fahkumram ผมเกือบร้องไห้นะ ไม่รู้ว่าคิดเข้าข้างตัวเองรึเปล่า ว่าเวลาที่เราไปแข่งรายการระดับโลกในนามนักแข่งไทย โชว์ธงประเทศไทย ในที่สุดมันก็มีตัวละครไทยโผล่มาสักที”

“เมื่อก่อน Tekken จะมีตัวละครชื่อ Bruce Irvin ที่ใช้มวยไทยในการต่อสู้ แต่มันยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามันก็ไม่ใช่คนไทย และโชคดีที่ได้ยินมาว่าคุณ Michael Murray โปรดิวเซอร์ของ Tekken เขาฝึกมวยไทยมา 7-8 ปีแล้ว ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีละครอย่าง Fahkumram ที่เป็นตัวละครไทย ใช้มวยไทย และพากย์เสียงไทย เข้ามาในเกมเสียที”

“คิดว่าตัวละครน่าจะเก่ง และผมคาดหวังว่าจะใช้ตัวละครนี้เป็นตัวละครหลักในการแข่งขันระดับนานาชาติในอนาคตแน่นอน”

นอกจากการคว้าแชมป์ ที่เป็นความหวังของนักแข่งทุกคนแล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายที่ ​Book อยากไปให้ถึง คือการเป็นสัญลักษณ์แห่งเกม Tekken ของประเทศไทย

“สำหรับผมมองว่าเหรียญทองซีเกมส์ครั้งนี้ อาจจะไม่ถึงกับทำให้ Tekken ได้รับความนิยมมากขึ้นอยากชัดเจน แต่เป็นการปลุกกระแสอีสปอร์ตส์ได้ดีกว่า”

“บางคนเห็น Tekken ยังไม่รู้เลยว่านี่คือเกมอะไร แม้เราจะไปแข่งเกม Tekken แต่คือการไปแข่งในนามกีฬาอีสปอร์ตส์ นั่นหมายความว่าวงการอีสปอร์ตส์อาจจะเติบโตขึ้น รวมถึง Tekken ด้วย ซึ่งผมก็ไม่ได้ซีเรียสว่ามันจะขึ้นหรือลง เพราะสุดท้ายเกมมันก็ยังมีอยู่ แต่จะมีคนเข้าใจคำว่าอีสปอร์ตส์มากขึ้นแน่นอน”

“บางคนเล่นเกมที่ไม่ดังแต่ยังเล่นต่อไปเรื่อยๆเพราะใจรัก ส่วนบางคนก็เลิกเล่นเพราะเกมไม่ดัง ส่วนตัวผมมองว่า Tekken อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนเกมอื่นๆในไทย แต่ผมก็ยังคงจะเล่นต่อไปเพราะผมชอบมัน และเป็นการแสดงออกให้ทุกคนเห็นว่า ให้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก อยากให้เห็นคนบางกลุ่มเห็นเราเป็นแบบอย่าง และมีกำลังใจจะทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องเกมก็ตาม” Book กล่าวทิ้งท้าย