กุนซือ Dota2 ที่สร้างผลงานพาทีม Motivate.Trust ที่ก่อนแข่งเป็นเพียงม้านอกสายตา แต่กลับระเบิดฟอร์มซิวแชมป์ BTS Pro Series Season 3: Southeast Asia ในรายการที่มีทีมแถวหน้าของอาเซียนลงชิงชัย 



การพาทีมอีสปอร์ตประสบความสำเร็จสักรายการ ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนเป็นโค้ช ดั่งเส้นทางของ Lakelz ที่ต้องเจออุปสรรคถึงขั้นทีมแตก เริ่มนับหนึ่งใหม่ ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ปัจจุบันเขาคือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นโค้ช Dota ฝีมืออันดับต้นของประเทศไทย เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และก้าวผ่านแต่ละเหตุการณ์ได้อย่างไร ONE Esports ขอพาคุณไปติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

เกมที่ไม่ใช่แค่เกม

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักเกมดังประจำร้านเกมทั่วประเทศอย่าง Counter strike , Red and Lert , Diabo ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คนเล่น

เช่นเดียวกับ “เบส”พิพัฒน์ ปริยชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lakelz ซึ่งเป็นทั้งอดีตโปรเพลเยอร์ชั้นยอด และโค้ชฝีมือเก่งกาจวัย 30 ปี ก็มีจุดเริ่มต้นจากบรรดาเกมเหล่านี้

“ผมเริ่มเล่นเกมตั้งแต่พวกเครื่องแฟมิคอม พอเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นจะมีเกมอย่าง Counter strike , Red Alert หรือพวก Diabo ที่ผมเล่น” Lakelz เริ่มเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองบนเส้นทางในวงการเกม

“หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเล่น Ragnarok ตอนนั้นติดหนักเลย มันเป็นเกมที่สามารถทำเงินได้ ผมล่าบอสแล้วก็เอาของไปขาย ตอนนั้นไม่ต้องขอเงินพ่อแม่จ่ายค่าเทอมเลย” 

Ragnarok จัดเป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับการเป็นเกมเมอร์ของนักเล่นในเกมในยุคนั้น Lakelz ใช้ Ragnarok หารายได้เสริมให้กับตัวเอง แต่ก็ยังเป็นเพียงการเล่นที่ไม่ได้มีเป้าหมายไปไกลมากกว่าการทำเงินบวกความสุขที่ได้เล่น กระทั่งวันหนึ่งได้มาพบกับเกมที่เปลี่ยนชีวิตของเขา นั่นคือ Dota …

ก้าวสู่วงการ Dota

“ผมเห็น Dota ครั้งแรกจากพี่ที่เล่นกันในร้านเกม ถึงกับต้องหยุดดู เพราะเห็นเขาพูดใส่กัน มันดูน่าสนใจอยากจะลองเล่นบ้าง” Lakelz เล่าย้อนถึงวันแรกที่ได้พบกับ Dota

“ตอนนั้นอยู่ ม.4 ก็เริ่มหัดเล่นตั้งแต่ตอนนั้น ผมเริ่มเล่น Lich (ฮีโร่สายเวทย์ตัวหนึ่งใน Dota 1) ก็ยังเล่นไม่เป็นเพราะไม่มีใครสอน พี่ที่เล่นด้วยเขาให้วางนิ้วรอกดสกิลแค่ปุ่ม V กับ C ก็พอ แต่ถึงจุดหนึ่งผมเริ่มไม่ชอบการแพ้อยากที่จะเรียนรู้เพื่อเอาชนะ จนมาเจอฮีโร่ที่ทำให้เราเล่น Dota เก่งมาจนถึงวันนี้ก็คือ Bone Fletcher ซึ่งมันมีสกิล Wind Walk (สกิลหายตัวได้) มันทำให้เราได้คิด วิเคราะห์สถานการณ์ ได้วางแผนในการเล่นมากขึ้นจนทำให้มั่นใจว่า เราเก่งขึ้น Bone Fletcher นี่ล่ะที่ทำให้ผมเข้าใจ Dota มากขึ้น”

หลังจากพัฒนาฝีมือจนเข้าขั้น Lakelz ก็ถูกชักชวนเข้าร่วมทีมของร้านเกมในชื่อ O-Net ที่เป็นการฟอร์มทีมขึ้นมาเอง โดยแบ่งเป็นทีมคือทีมหนึ่งและสอง Lakelz ถูกคัดให้อยู่ทีมสองเนื่องจากตอนนั้นฝีมือของเขายังไม่ถึงขั้นเป็นตัวแทนของทีมหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลงสังเวียนแข่งจริงกับทัวร์นาเมนต์ใน ThaiCyberGames แต่ตกรอบอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม Lakelz ยังคงพัฒนาตัวเองต่อไป กระทั่งได้ลงแข่งทัวร์นาเมนต์ของ ThaiCyberGames ซึ่งครั้งนี้สามารถพาทีมสองผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ส่วนทีมหนึ่งจอดป้ายเพียงรอบ 4 ทีมสุดท้าย กลายเป็นความประทับใจครั้งแรกที่มีต่อ Dota

เวลานั้น Lakelz ตัดสินใจวางมือจาก Ragnarok และหันมาเอาดีกับ Dota เต็มตัว แม้จะไม่ใช่เกมที่ทำเงินได้จริง แต่ก็เล่นด้วยความชอบ เขาค่อยๆเติบโตในวงการ Dota ทีละก้าว เมื่อเริ่มมีสังกัดจริงจัง ไล่เรียงจาก Neolution และ MiTH มีสปอนเซอร์ มีรายได้เข้ามา กราฟชีวิตของ Lakelz ไปได้สวย 

Dota นับเป็นเกมที่ Lakelz เริ่มต้นบนเส้นทางอีสปอร์ตเต็มตัว แม้จะยังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากช่วงเวลานั้นวงการอีสปอร์ตในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก  แต่เขาก็พยายามหาเวทีเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองอยู่เสมอ โดยได้รับโอกาสเดินทางไปแข่งรายการใหญ่ WCA ที่ประเทศจีน 

แม้จะตกรอบอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ทำให้เขาได้เจอกับเพลย์เยอร์ระดับโลก ที่ช่วยปลุกไฟในตัวให้ลุกโชน พร้อมตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า เขาจะต้องเก่งขึ้น

ประเดิมเวทีโลก

หลังเผชิญโลกกว้าง Lakelz มีความคิดริเริ่มอยากสร้างบูทแคมป์ขึ้นมา เนื่องจากมองว่า ทีมที่เป็นแชมป์ สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะมีบูทแคมป์ใช้เก็บตัวฝึกซ้อมจริงจัง เขาจึงชักชวนเพื่อนๆที่เวลานั้นอยู่ในสังกัด MiTH และเรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี โดยใช้เงินเดือนที่ได้จากต้นสังกัดเช่าบ้านย่านปริมณฑลเพื่อใช้เป็นบูทแคมป์ของตัวเอง

ในเวลานั้นทีม MiTH คืออันดับหนึ่งของวงการ Dota ประเทศไทย ได้รับโอกาสลุยรายการระดับโลก กับ The International Dota 2 Championships หรือ TI ถึงประเทศเยอรมัน ซึ่งมีเงินรางวัลมากถึง 30 ล้านบาท นี่คือรายการที่ใหญ่ที่สุด รายการที่มีเงินรางวัลเยอะที่สุด และเป็นการเดินทางไกลที่สุดเพื่อแข่ง Dota ครั้งแรกของ Lakelz เขาไปพร้อมกับความหวังว่า จะต้องไปให้ถึงเป้าหมาย

ทว่ากลับเจอปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้เขา และทีมไปไม่ถึงฝัน…

“ปัญหาที่เจอตอนนั้นคือ ในการแข่งขันเขาเล่น Dota 2 แต่ในบ้านเราเล่น Dota 1 ทำให้ไม่คุ้นเคยกับฮีโร่หรือสกิลอะไรเลย” Lakelz กล่าวถึงปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเมื่อต้องจับ Dota 2 ด้วยความไม่คุ้นเคย

“ช่วงก่อนบินไปแข่งหนึ่งเดือนโชคดีหน่อยที่มีเพื่อนช่วยไปบูธแคมป์ที่บ้านเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด แต่แมตช์ที่เล่นจริงๆก็เล่นไม่ถึง 50 เกม ด้วยซ้ำ ในขณะที่นักแข่งบางคนเขาชนะมา 300 เกม มันเป็นการเตรียมตัวคนละเรื่องกันเลย”

“แต่มันก็มีโมเมนต์น่าประทับใจคือ เราสามารถแข่งชนะจบอันดับ 7-8 ตอนอยู่ในห้องกระจก เราได้ยินเสียงคนตะโกนเรียกชื่อฮีโร่เรา มีแต่คนอยากจับมือ อยากถ่ายรูปด้วย ซึ่งมันเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้อยากกลับไปยืนในจุดนั้นอีกครั้ง”

Lakelz ตั้งเป้าหมายไว้ว่าศึก TI 2 เขาจะต้องกลับมายืนอยู่บนเวทีนี้อีกครั้ง ด้วยผลงานที่ต้องดีกว่าเดิม Lakelz เต็มไปด้วยแรงกระหายในชัยชนะ เขาอยากพัฒนาตัวเอง อยากเอาชนะคู่แข่ง ในเวลานั้นไม่มีอะไรที่เขาต้องกลัว

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพบกับเรื่องที่ทำให้ไฟในตัวของเขามอดลงอย่างรวดเร็วบนเส้นทางโปรเพลย์เยอร์ Dota…

หมดไฟ

“ตอนนั้นถ้าเราได้ไป TI 2 ผมมองว่า เราจะพุ่งขึ้นไปอีกแน่นอน รวมถึงครั้งต่อๆไปด้วย” Lakelz เล่าย้อนถึงการแข่งในครั้งนั้น

“วงการ Dota ในบ้านเรา ก็จะพุ่งสูงขึ้น เพราะมีคนสนับสนุนเยอะมาก แต่ปัญหาคือ Dota 2 ยังดีเลย์ มันทำให้เราไม่อินไปกับเกม ไม่อินในตัวเอง หลังกลับมาจากแข่งครั้งแรกผมก็ไม่ได้ซ้อม Dota 2 เลย เพราะในไทยเล่นกันแต่ Dota 1 แล้วพอมีแข่ง Dota 2 ก็ไปแข่ง ซึ่งมันไม่มีความคุ้นเคยอะไรในเกมเลย”

“ตัวแปรสำคัญคือ หลังจากนั้นในการแข่งคัดเลือกเขาเอาจีนมาคัดเลือกกลุ่มเดียวกับ ไทย ด่านสุดท้ายเราแพ้จีน ทั้งครั้งที่สองและสาม แต่ก็รู้สึกเสียดายที่เราไม่ตัดสินใจทำมันให้เต็มที่ไปเลยตั้งแต่ครั้งแรก ไม่ยอมซื้อคอมพิวเตอร์แรงๆ ติดตั้งอินเตอร์เน็ตแรงๆ ทั้งที่เงินรางวัลเยอะมาก เราคว้าที่ 5-6 ที่นั่นก็เปลี่ยนชีวิตแล้ว”

ในศึก TI 4 Lakelz และทีม เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อัพเดทอุปกรณ์ เอาจริงเอาจังมากขึ้นกับ Dota 2 ระดมเงินทำบูธแคมป์ ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อความหวังว่า ครั้งนี้จะต้องไปให้ถึงเป้าหมาย แต่แล้วเมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มขึ้นก็ต้องพบกับควมผิดหวังซ้ำรอยเดิม หลังแพ้ให้ทีมจากเกาหลีใต้

“จริงๆเราก็โทษใครไม่ได้ต้องโทษตัวเอง ตอน TI 4 เราทิ้ง Dota 1 ไปเลย และมาเอาจริงกับ Dota 2 แต่ก็ต้องผิดหวังเหมือนเดิม ช่วงนั้นท้อไปเลย เพราะตอน TI 4 ผมยอมลาออกจากงานเพื่อมาทำแคมป์จริงจังเล่นแบบฟูลไทม์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังหมดสัญญาเราก็ไปต่อกับ Signature ที่เข้ามาสนับสนุนทีม(Signature.Trust) สปอนเซอร์อาจจะดี แต่ตอนนั้นไฟในตัวผมเริ่มมอดไปแล้ว”

จากความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ และเงินทุน แต่กลับไม่สมหวังทำให้ Lakelz เริ่มลังเลกับอนาคตบนเส้นทางโปรเพลย์เยอร์ Dota และเริ่มหันไปมองงานเบื้องหลังแทน

“ตอนนั้นผมเริ่มอายุมากขึ้นประมาณ 25 ปี ผมรู้ว่า ตัวเองหยุดพัฒนามานานแล้ว พอเล่นไปเรื่อยๆไฟในตัวที่เคยมีมันก็เริ่มมอดลง จุดนั้นกลายเป็นว่า ผมกลายเป็นคนที่ชอบนั่งดูรีเพลย์ วางแผนเอง คอยสรุปตอนจบเกมมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำมานานตั้งแต่หลังจบ TI 5”

“ผมรู้สึกว่า เราอาจหมดไฟกับการเล่น แต่มีสกิลตรงนี้ที่ชอบมากกว่าหรือว่าจะเปลี่ยนลองมาทำเบื้องหลังดี เพราะสกิลที่เรามั่นใจในตอนนั้นมันไม่ใช่เพลย์ แต่เป็นงานของโค้ชกับการวางแผน วิเคราะห์เกม ดราฟฮีโร่ เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจมาทำเบื้องหลังแทน” 

Lakelz ตัดสินใจหันหลังในกับการเป็นโปรเพลย์เยอร์ เพื่อรับบทบาทโค้ช Dota เต็มตัว…

สู่เส้นทางโค้ช

หลังมุ่งสู่เส้นทางโค้ช วิถีชีวิตของ Lakelz เปลี่ยนไป เมื่อต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีภาระหน้าที่มากขึ้น มีวินัยเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกทีม ในแต่ละวันเขาต้องนั่งศึกษาข้อมูลต่างๆ วางแผน และวิเคราะห์การเล่นตลอดเวลา คอยดูลูกทีมฝึกซ้อมไปพร้อมๆกับหาจุดผิดพลาดเพื่อแก้ไข

แม้แต่ช่วงเวลาพักผ่อน เขายังคงดูลูกทีมเล่นเพื่อยากให้คำแนะนำในการพัฒนาตัวเอง 8 ชั่วโมง ในหนึ่งวันเขาทุ่มเทให้กับทีมอย่างหนักเสมอมา

“หลักการสอนของผมมีสองโหมด หากแข่งในไทย ผมอยากให้ทุกคนคิดว่า เราคืออันดับหนึ่ง เราเก่งกว่าทุกทีมในนี้ เรามองเป้าหมายอีกที่ แต่ตอนนี้เราเหมือนแข่งเพื่อป้องกันแชมป์ เรามาเพื่อถล่มคู่ต่อสู้”

“เราไม่ได้มาเพื่อแพ้ เรามาเพื่อเป็นแชมป์ แต่ถ้าเป็นการแข่งระดับที่สูงขึ้นจะบอกน้องๆว่า เรามาหาประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเล่นให้เหมือนซ้อม เล่นเป็นตัวเองที่สุดผลงานจะอย่างไรก็ว่ากัน”

ความมุ่งมั่นทุ่มเทของ Lakelz ดูราบรื่น การฝึกซ้อมเข้มข้นมีหลักการ แต่เมื่อลงสนามจริงกับการประเดิมงานโค้ชหนแรก ทุกอย่างกลับพังทลายลงในเวลาไม่นาน

ทีมแตก

“การคุมทีมครั้งแรกสำหรับผมต้องบอกว่าเลวร้ายมาก” Lakelz กล่าวด้วยความผิดหวัง ซึ่งกลายเป็นข่าวช็อควงการเมื่อต่อมา Lakelz ได้ประกาศยุบทีม Trust Gaming จากปัญหาต่างๆที่ถาโถมเข้ามา

“ผลการแข่งไม่เป็นอย่างที่คาด จนถึงจุดหนึ่งที่ทีมแตกออกมาหลายส่วน ก็ต้องดึงหน้าใหม่เข้ามา แต่ผมยังไม่มีสกิลการสอนอะไรเลย ไม่รู้จะพูดอะไรกับน้องๆ ไม่รู้ความบาลานซ์ในการสร้างทีม ไม่รู้วิธีการละลายพฤติกรรมของเพลเยอร์ มาถึงก็จัดทีมลงเล่น ผลก็ออกมาตามคาดคือแพ้เละ”

“มันหนักถึงขั้นทะเลาะกันในทีม ซึ่งเราไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร บางทีผมใช้อารมณ์มากกว่าด้วยซ้ำ จนถึงขั้นต้องยุบ Trust ใจจริงอยากทำต่อ แต่กลัวทำให้ชื่อทีมเสีย เลยคิดว่า เราถอยออกมาก่อนดีกว่า”

นับหนึ่งใหม่ใหม่อีกครั้ง

Lakelz ต้องว่างเว้นจากวงการไปถึง 4 เดือน แต่ด้วยหัวใจที่ยังรัก Dota ทำให้เขาพยายามปลุกไฟในตัวอีกครั้ง พร้อมกับการเดินทางครั้งใหม่ โดยมี Alpha เข้ามาเป็นสปอนเซอร์พร้อมกับงบประมาณการทำทีมก้อนใหญ่ ที่จุดประกายความฝันของเขาอีกครั้ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตบนเส้นทางโค้ช

“ตอนนั้นเรามีงบ มีสังกัดในมือ ทำให้เห็นภาพว่า มันทำทีมอาชีพได้ ผมดึงเพลย์เยอร์ชั้นนำของประเทศ 10 คน เข้ามาร่วมทีมทันที เพราะ Alpha อยากให้สร้างสองทีม” Lakelz เล่าถึงการสร้างทีมครั้งใหม่ภายใต้ชื่อ ALPHA Red 

เขาใช้ประสบการณ์ความล้มเหลว และบทเรียนที่เคยผ่านมา นำมาปรับใช้กับการก่อร่างสร้างทีมให้มั่นคง และมีคุณภาพ Lakelz พา ALPHA Red ไต่ระดับความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม โดยใน Tier 3 กับศึก E-Sport Pro League 2018 สามารถก้าวสู่อันดับ 2 ก่อนที่ World Electronic Sports Games 2018 Thailand Finals จะคว้าอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ 

หลังหมดสัญญากับ ALPHA Red ยังคงต่อยอดความสำเร็จกับ Trust Gaming ที่กลับมาฟอร์มทีมอีกครั้ง โดยใน ซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ กับการเป็นตัวแทนประเทศไทย ถือเป็นอีกรายการสำคัญที่ทำให้ Trust Gaming ถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อคว้าอันดับ 2 ของเกม Dota มาครอง

“ตั้งแต่แข่งซีเกมส์ได้ที่ 2 ผมมองว่า ทีมเรามีศักยภาพ ผลงานดีขึ้นเรื่อยๆติดท็อป 4 Southeast Asia มีผู้เล่นแรงกิ้ง mmr สูง 9000 มากถึง 3-4 คน มีทะลุหลักหมื่นอีก 2 คน ตอนนั้นผมรู้ว่า เราไม่แพ้ใครแน่ มีทีมใหญ่พร้อมดึงคนของเราไปร่วมทีม แต่ทุกคนเลือกที่จะอยู่ลุยกับทีมต่อไป”

Motivate.Trust ภายใต้การคุมทีมของ Lakelz ประสบความสำเร็จต่อเนื่องเมื่อคว้าอันดับ 1 ในศึก ESL Thailand Championship 2020 ก่อนจะได้รับเชิญเข้าแข่งขัน  BTS Pro Series Season 3: Southeast Asia 

แต่กลับต้องพบปัญหาหนักใจในฐานะโค้ชอีกครั้ง เมื่อ “โจ้” ภูมิพัฒน์ “Fearless” ไตรศิริพานิช ผู้เล่นฝีมือดีของทีมตัดสินใจหาต้นสังกัดใหม่ ทำให้บรรยากาศในทีมเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง

Credit: Motivate.Trust Gaming’s Facebook

บทเรียนที่ไม่สูญเปล่า

“ตอนนั้มีข่าวว่า น้องจะออกจากทีม ผมก็พพยายามบอกให้น้องเขาเล่นให้จบก่อน บรรยากาศในแคมป์แย่ลง เพราะรู้ว่าเล่นๆไป เดี๋ยว Fearless ก็ต้องออกจากทีมอยู่ดี” Lakelz กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้ Motivate.Trust มีบรรยากาศในทีมไม่สู้ดีนัก

แต่ด้วยความเป็นโค้ช เขาต้องพยายามเรียกขวัญลูกทีมกลับมา Lakelz เคยมีบทเรียนราคาแพงมาแล้วในช่วงแรกที่หนักถึงขั้นทีมแตก ทำให้ครั้งนี้ Lakelz ตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ทีมกลับมาเป็นหนึ่งเดียว และกระตุ้นความกระหายในชัยชนะอีกครั้ง

“ตอนนั้นผมเปลี่ยนรูปแบบการซ้อมใหม่จากซ้อม 2-3 เซท กลายเป็นวันไหนมีแข่ง เราจะไม่ซ้อม แต่เน้นมานั่งดูเกม นำการแข่งของทีมอื่นมานั่งพูดคุย ปรึกษากัน ตอนแรกเราซ้อมหนักมาเหมือนมันอัดเยอะจนเกินไป ซึ่งพาเปลี่ยนให้ซ้อมน้อยลง แต่เปิดใจคุยมากขึ้น มันทำให้เราสามารถนำสิ่งที่ซ้อมมาใช้ได้จริงในตอนแข่งขัน”

“หลังจากเปลี่ยนใหม่ทุกอย่างทำให้ Fearless ตัดสินใจไม่ออกจากทีมเพื่อเล่นให้จบสัญญาตอนนั้นทีมกลับมามีไฟ มีชีวิตชีวาอีกครั้ง จนพวกเราสามารถสร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์ได้ในที่สุด”

Lakelz พา Motivate.Trust คว้าแชมป์สำเร็จ ซึ่งถือเป็นเรื่องสุดเซอร์ไพร์ เพราะรายการนี้เต็มไปด้วยทีมยักษ์ใหญ่ที่ถูกยกเป็นทีมเต็งอาทิ Fnatic , BOOM Esports รวมถึง Among Us ที่มีผู้เล่นชั้นนำอย่าง Jabz และ 23Savage ร่วมทีม ส่วน Motivate.Trust เป็นเพียงม้านอกสายตาเท่านั้น

ซึ่งในเกมแรกที่พบกับ Among Us ทาง Motivate.Trust เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก่อนต่อมาอีกสองเกม Lakelz นำบทเรียนจากการเจอกันหนแรกมาปรับใช้ มีการคิดวิเคราะห์ละเอียดขึ้น จริงจังมากขึ้น ท้ายที่สุดสามารถสร้างผลงานสุดเซอร์ไพร์สเมื่อเอาชนะ Among Us และผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ BOOM Esports

“จริงๆเราไม่ได้หวังว่าจะชนะ Among Us เพราะรู้ศักยภาพทีมของเขาดี ก็คิดแค่ว่าจะทำให้ดีที่สุด ผลก็ออกมาแพ้ แต่เรารับได้ เพราะเล่นเต็มที่และทำได้สูสี” แม้จะเป็นฝ่ายแพ้ แต่ Lakelz กล่าวอย่างภูมิใจกับลูกทีมที่สู้กับหนึ่งในทีมเต็งแชมป์ได้สูสี

“แต่พอเจออีกครั้งในรอบเพลย์ออฟสายบน เราคิดจะแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะเอาชนะพวกเขาได้ หากคิดแบบเดิมก็จบที่การแพ้อยู่ดี ครั้งนี้เราจึงลองวิเคราะห์แผนการเล่นจริงจัง ดูว่า Among Us เคยเจอแผนไหนแล้วพวกเขารับมือยากที่สด พอทำออกมาชนะหนึ่งเกมก็รู้สึกโอเค แต่คิดว่า เราน่าจะดีกว่านี้ถ้าเราไม่พลาดกันเอง แต่ในเกมสาม ถึงตอนนั้นรู้ไส้รู้พุงดีแล้ว รู้ว่าจะเล่นอย่างไรเขากดดัน และเดินเกมลำบาก”

“ผมคิดว่า ปัจจัยที่ทำให้ได้แชมป์ เป็นเพราะนัดชิงเราเล่นโดยไม่กดดันอะไรแล้ว เรากังวลกับการเจอ Among Us มากกว่า พอชนะมาได้ก็โล่ง ส่วนที่เหลือคือกำไร อีกอย่างผมมองว่า เขา(BOOM Esports) คงคิดว่าเราน่าจะตกรอบแน่ๆ แต่เรากลับเซอร์ไพร์สโผล่มาเจอในรอบชิง”

“ต้องบอกว่า นี่คือสิ่งที่ผมไม่เคยทำได้มาก่อนตั้งแต่สมัยอยู่ MiTH หรือช่วงที่ผมยังเป็นผู้เล่นด้วยซ้ำ มันทำให้พิสูจน์ว่า เราสู้ได้ และมีศักยภาพในการเป็นแชมป์”

Lakelz ยอมรับว่า การเห็นความสำเร็จของทีมในฐานะโค้ชกับ เพลย์เยอร์แตกต่างกัน ในวันนี้เขาภูมิใจที่เห็นทีมที่เขาสร้างขึ้นมากับมือประสบความสำเร็จในลู่ทางที่ควรจะเป็น

“มันเป็นความตื้นตันใจคนละแบบ ถ้าเป็นตอนเพลย์เยอร์ ผมคงภูมิใจที่เราเดินมาถึงตรงนี้ เราเก่งเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ แต่ถ้าในฐานะโค้ช ผมภูมิใจที่ทีมที่ตัวเองสร้างขึ้นก้าวมาจุดนี้ได้”

“ผมดีใจทุกครั้งถ้ามีลูกทีมของเราย้ายไปทีมอื่นแล้วเขาบอกว่า เขาได้ดีเพราะเราเป็นคนสอนก็เหมือนครูที่เห็นศิษย์ได้ดีนั่นล่ะ”

อนาคตวงการ Dota ไทยที่ยังน่าห่วง

ปัจจุบันวงการ Dota ในประเทศไทย ซบเซาลงหากเทียบกับยุคแรกที่เล่นกันทั่วประเทศ เป็นเกมอันดับแรกๆที่ต้องนึกถึง

แต่เวลานี้ถูกแทนที่เกมดังหลายเกมอาทิ ROV ซึ่งเป็น Mobile game ที่ถูกผลักดันสู่เวทีระดับโลกอย่างจริงจัง ในขณะที่ Dota กลับมีพื้นที่ให้นักแข่งหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือน้อยลง ซึ่ง Lakelz ยอมรับว่า วงการ Dota ในไทยยังคงน่าเป็นห่วง

“ถ้าเทียบความต่างระหว่างโปรเพลย์เยอร์บ้านเรากับอาเซียน ถือว่าต่างกันเยอะ เพราะลีกในบ้านเราน้อย ไม่สามารถดึงผู้เล่นหน้าใหม่ให้ขึ้นมาได้ ผู้สนับสุนนก็น้อยทำให้โตช้ากว่าที่ควรเป็น หากเทียบกับฟิลิปปินส์ หรือ อินโดนีเซีย Dota คือเมนหลักของเขา ทำให้ดาวรุ่งใหม่ๆที่อยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตก็เลือกเล่นที่จะเล่น Dota เป็นอันดับแรก”

“ส่วนในไทย ถ้าอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตก็ต้องเกมมือถืออย่าง ROV ดาวรุ่งที่จับต้องได้ของ Dota บ้านเราตอนนี้มีแค่ น้องทรี (หนึ่งนรา ธีรมหานนท์ หรือ 23savage) คนเดียวจริงๆ หลังจากนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเวทีให้เขาได้แสดงฝีมือ ต่างจาก ROV ที่มีทั้งเล็กใหญ่ บอกตามตรงหมดจากยุคนี้จะเป็นยังไงผมยังไม่รู้เลย”

ปัจจุบัน Lakelz เปิดรับสอน Dota ให้กับผู้ที่สนใจทั้งแบบเดี่ยว และเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำเพื่อหวังว่า ผู้เล่น Dota ในไทยแข็งแกร่งมากขึ้น และการก้าวสู่เวทีระดับท็อปอย่างมั่นคง

“ตอนนี้ผมรับสอนแบบคิดรายชั่วโมง แบบเดี่ยวชั่วโมงละ 500 บาท ส่วนแบบทีม 1,000 บาท แบบเดี่ยวผมสอนทั้งวิธีคิด ว่าจะเล่นทางไหน อย่างการเล่น แคร์รี  การทำคืออะไร ออกไอเท็มเล่นอย่างไร ช่วงเวลาของตัวฮีโร่นี้คืออะไร ควรใช้ในเกมแบบไหน เราจะบอกทุกอย่างให้ได้รู้ ทำให้เขาเข้าใจว่า การเล่นตำแหน่งนี้คืออะไร”

“ส่วนแบบทีก็สอนแบบเดียวกัน และช่วยคิดแผนของทีมนั้นว่าควรเป็นอย่างไร ผู้เล่นแต่ละคนถนัดแบบไหนเพื่อปรับแผนให้เข้ากับทีมนั้นๆ ถ้ามีใครสนใจก็สามารถติด่อในเฟซบุ๊ค Pipat Prariyacha tหรือทางเพจ  Trust Dota 2ก็ได้ครับ”

อย่างไรก็ตาม Lakelz มองว่า หากมีการจัดแข่งขันหรือเวทีแสดงฝีมือไล่ตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงระดับประเทศ เขาเชื่อว่า นักเล่น Dota สายเลือดใหม่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นโปรเพลย์เยอร์ได้แน่นอน

“ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเก่งขึ้น พวกเขาต้องผลักตัวเองด้วย อยากที่จะเข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากพี่ๆกับคนอื่นๆหรือกับผม อย่างน้องทรี เขาผลักกันตัวเองก้าวขึ้นเป็น Top 100 กว่าจะได้เข้าทีมชั้นนำของประเทศ ซึ่งมันยาก แต่เขาก็ทำได้”

“เราพยายามมองหาเด็กแบบนี้ ขอแค่ต้นสังกัดใหญ่ๆให้โอกาสน้องๆได้ไต่ระดับสู่เวทีระดับประเทศ ให้เขาได้เจอความกดดันจากการซ้อมที่จะช่วยให้เขาได้พัฒนาขึ้น ผมอยากให้มีทัวร์นาเมนต์เล็กๆเพื่อให้เด็กใหม่ๆมีพื้นที่ลงแข่ง ให้พวกเขากล้าที่จะแสดงฝีมือฝีมือ เพราะหากฐานเราแน่นจะสามารถเทียบมาตรฐานกับทีมเพื่อนบ้านได้แน่นอน”

“ตอนนี้เราเห็นกันอยู่แล้วว่า สกิลเด็กไทยไม่แพ้ใครแน่นอน” Lakelz

แม้วงการ Dota ของไทยยังคงคลุมเครือ แต่ Lakelz ในฐานะโค้ช เขายังคงหวังว่า Dota จะมีเวทีให้ผู้เล่นสายเลือดใหม่ได้ลองพิสูจน์ฝีมือ เพื่อวันหนึ่งจะก้าวสู่ความสำเร็จบนเวทีโลกอีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ…

อ่านเพิ่ม: ONE Esports Talk : Rizky Faidan นักล่าฝัน 7,000 กิโลเมตร